ศูนย์การซื้อขายผลไม้จีน(ฉงจั่ว)-อาเซียน ได้เปิดตัวที่อำเภอระดับเมืองผิงเสียง เมืองการค้าชายแดนสำคัญบนเนื้อที่ 747 ไร่ แบ่งเป็นโซนหลัก (Core Area) กับโซนแปรรูป แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 4,000 ล้านหยวน

ศูนย์แห่งนี้เน้นฟังก์ชันด้านการแปรรูป (นำเข้ามาแปรรูปในพื้นที่เพื่อการจำหน่ายในประเทศ/ส่งออก) และโกดังห่วงโซ่ความเย็น มุ่งส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้เพื่อตอบโจทย์ตลาดจีนและอาเซียน โดยใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งที่ประชิดด่านชายแดน (ด่านสากลโหย่วอี้กวาน รวมถึงช่องทาง Puzhai และช่องทาง Nongrao เชื่อมกับเวียดนาม) โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเป็นศูนย์การซื้อขายผลไม้นำเข้า-ส่งออกผ่านทางบกแบบครบวงจร

ในวันเดียวกัน รัฐบาลผิงเสียงและบริษัท Beijing Xinfadi Management Co.,Ltd. (北京新发地企业管理有限公司) หนึ่งในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ร่วมกันลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้าเกษตรและผลิตผลพลอยได้ทางการเกษตร และได้มีการปล่อยรถบรรทุกทุเรียนไทยและแก้วมังกรเวียดนนาม 20 คันจากศูนย์แห่งนี้เพื่อกระจายไปยังมณฑลอื่นในจีนด้วย

จากนั้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ศูนย์การซื้อขายผลไม้จีน(ชินโจว)-อาเซียน ได้เปิดตัวภายในศูนย์การซื้อขายสินค้าทัณฑ์บนห่วงโซ่ความเย็นอ่าวเป่ยปู้(ท่าเรือชินโจว)ในเมืองชินโจว ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยเรียก อ่าวตังเกี๋ย)

ศูนย์แห่งนี้ใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งที่เป็นท่าเรือทะเลที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลที่เชื่อมถึงอาเซียนได้สะดวกและรวดเร็ว โดยเน้นทุเรียน มะม่วง มะพร้าว มังคุด และลำไยจากประเทศไทย มาเลเซีย และกัมพูชาเป็นหลัก

Cr: thaibizchina