สภาอุตฯลุยยกเครื่องภาคการผลิตไทยครั้งใหญ่ ใช้ออโตเมชั่นแทนแรงงานคน เตรียมจับมือรัฐ-สถาบันการเงิน ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 45 กลุ่มอุตฯ ระบุผู้จบด้าน "ดิจิทัล" ถูกแย่งตัวมากสุดในยุคนี้ หอการค้าไทย เผยภาคผลิต-บริการยังขาดแรงงาน 3-5 แสนคน แนะทำเอ็มโอยูศรีลังกา-บังกลาเทศ” ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและภาคบริการ ยังเป็นอีกปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการ หลังสถานการณ์โควิดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวกลับประเทศจำนวนมาก รวมถึงแรงงานไทยส่วนหนึ่งได้กลับภูมิลำเนา หรือเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งจากสถิติพบมีแรงงานออกจากระบบประกันสังคมแล้วกว่า 50,000 คน   อย่างไรก็ดีแม้หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายสามารถขึ้นทะเบียนแรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 โดยให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อผ่านระบบออนไลน์ เพื่อต่ออายุใบอนุญาตการทำงานได้อีก 2 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ยกเครื่องใหญ่ภาคผลิตใช้ออโตเมชั่น นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังเป็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น แปรรูปอาหาร อาหารทะเลแช่แข็ง สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น นับวันปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เสน่ห์ในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากให้มาลงทุนในไทยเริ่มหดหาย ขณะที่แรงงานไทยก็ไม่ค่อยทำงานประเภทนี้แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี ไทยต้องเร่งปัญหาขาดแคลนแรงงาน เฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีทักษะฝีมือ เพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ไทยให้การส่งเสริม เช่น อุตสาหกรรม New S-Curve อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีทั้งหลายที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูง และต้องใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ หรือโรบอติกส์ (หุ่นยนต์) มาใช้ทดแทนแรงงานขั้นพื้นฐานมากขึ้น Cr: thansettakij