บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผนึกความร่วมมือ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ให้บริการการฝากส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ผ่านความชำนาญด้านเส้นทาง ยานพาหนะ และจุดให้บริการ ในรูปแบบการส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จากศูนย์กระจายสินค้าหนึ่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าอีกแห่งหนึ่ง หรือ Hub to Hub โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นการใช้ทรัพยากรของทั้งไปรษณีย์ไทยและ บขส. ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่จะมีทางเลือกและความมั่นใจ กับการฝากส่งสิ่งของที่มากกว่าเดิม และตอบโจทย์ปริมาณการฝากส่งสิ่งของและเทรนด์การส่งด่วน ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานด้านการรับฝาก – นำจ่ายไปรษณียภัณฑ์ และพัสดุ ไปรษณีย์ไทยถือว่ามีความ ครบครันในด้านโซลูชันการให้บริการที่ตอบโจทย์กับประเภทความต้องการขนส่ง ความสะดวก รวมทั้งเครือข่ายที่ครอบคลุมที่สุด และในปีนี้เพื่อให้ด้านเครือข่ายและทางเลือกในการขนส่งสิ่งของ กับไปรษณีย์ไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ บขส. หรือบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่จะให้บริการกับประชาชนในการฝากส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเครือข่ายของ ทั้งสองฝ่ายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านความชำนาญเส้นทาง ยานพาหนะ เทคโนโลยี ด้านข้อมูล รวมทั้งจุดให้บริการที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งการจับมือกันในครั้งนี้จะช่วยตอบโจทย์ ปริมาณการฝากส่งสิ่งของที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในด้านระยะเวลาการส่งด่วนที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน   “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามแนวคิด Sharing Economy ซึ่งทั้งไปรษณีย์ไทย และ บขส. นับเป็นผู้ที่มีความชำนาญด้านเส้นทาง มีเครือข่ายและยานพาหนะที่สามารถรองรับการขนส่งได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ รูปแบบของการดำเนินงานจะเป็นการส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จากศูนย์กระจายสินค้าหนึ่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าอีกแห่งหนึ่ง หรือ Hub to Hub และการส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จาก ศูนย์กระจายสินค้าหนึ่งส่งมอบให้กับผู้รับปลายทาง หรือ Hub to Door โดยในปี 2566 จะเริ่มต้นด้วยการดำเนินงานแบบแรกคือ Hub to Hub ซึ่งเป็นการนำพัสดุภัณฑ์ที่ฝากส่งกับ บขส. มาส่งผ่านรถยนต์ขนส่งของไปรษณีย์ไทยไปยังศูนย์กระจายสินค้าต่าง ๆ ในภาพรวมคาดว่าจะมีปริมาณงานขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 350 ชิ้น / เที่ยว (ไป – กลับ) หรือ 10,500 ชิ้น/ เดือน สำหรับรถขนส่งของ บขส. 1 คัน และตอบโจทย์ กับกลุ่มสินค้าประเภทเกษตรกรรม อาหาร สิ่งของขนาดพิเศษ อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ ที่ต้องการกระจาย – จำหน่ายสินค้าในพื้นที่อื่น ๆ” Cr: thaipr.net