News

news-20250116-01

ไทยเลิกเป็น 'ถังขยะโลก' สั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติก

กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เป้าหมายหลักคือการป้องกันภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและปกป้องสุขภาพของประชาชน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เคยมีใบอนุญาตนำเข้าขยะจะไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่เป็นการนำเข้าภายใต้มาตรา 152 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร ที่อนุญาตการนำเข้าในกรณีเฉพาะ

ที่ผ่านมาขยะพลาสติกถือเป็นของมีค่าสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลและเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งในไทยมีโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยโรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้น การที่ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะในครั้งนี้ นอกจากนั้น จะทำให้ราคาขยะในประเทศมีราคาสูงขึ้น ยังช่วยแรงงานที่เป็นคนเก็บขยะให้มีรายได้เพิ่มอีกด้วย

การห้ามนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์โดยกลุ่มสิ่งแวดล้อมหลายปีของ และเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางหลักสำหรับขยะพลาสติกจากยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น หลังจากที่จีนห้ามการนำเข้าขยะในปี 2561

โดยข้อมูลจากศุลกากรของไทยระบุว่า ระหว่างปี 2561 ถึง 2564 มีการนำเข้าเศษพลาสติกมากกว่า 1.1 ล้านตัน แค่ในปี 2561 ปีเดียว ปริมาณการนำเข้าพุ่งสูงถึง 8 เท่าจาก 69,500 ตัน เป็น 552,912 ตัน โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดมายังประเทศไทย โดยมีการส่งออกประมาณ 50 ล้านกิโลกรัมในปี 2022

นอกจากไทยแล้ว ประเทศที่รับขยะพลาสติกนำเข้าสูงสุด ได้แก่ ตุรกี, อินเดีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, และอินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับขยะพลาสติกนับตั้งแต่ที่จีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี 2561

รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น  และยังมีการจับกุมผู้นำเข้าขยะพลาสติกและโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนมากในระหว่างปี 2561-2562

อย่างไรก็ดี การประกาศห้ามนำขยะพลาสติกประสบปัญหาและเสียงคัดค้านจากผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก ทำให้การดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกล่าช้าออกไป

จนกระทั่งในปี 2564 องค์กรภาคประชาสังคม 72 องค์กรได้ร่วมกันออกแถลงการณ์กระตุ้นให้รัฐบาลไทยเร่งออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกโดยเด็ดขาด และในที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติก โดยจะมีผล 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ Ecological Alert and Recovery - Thailand (EARTH) กล่าวว่า การห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดควรถือเป็นชัยชนะของภาคประชาสังคมในการป้องกันไม่ให้ขยะอันตรายเข้ามาในประเทศไทย

“การเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและการร่วมมือกับทางการอย่างเข้มแข็งจะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าการห้ามดังกล่าวได้รับการบังคับใช้”

นางสาวพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นการห้ามนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดศุลกากร 39.15 เพียงพิกัดเดียว แต่ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสำแดงภายใต้พิกัดศุลกากรอื่น เช่น สำแดงว่าเป็นกระดาษ

ที่มา - bangkokbiznews

news-20250115-02

'พาณิชย์' กางแผนโปรโมทส่งออก ตั้งเป้าสร้างมูลค่าเพิ่ม 9 หมื่นล้าน

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานแถลงข่าว “DITP Creates Possibilities ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปตลาดโลก” โดยมี น.ส.ณัฐิยา สุจินตา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมด้วย ณ ห้องพาณิชย์สัมพันธ์ ชั้น 11 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์แผนกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกประจำปี 2568 และทิศทางการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปบุกตลาดโลก ผ่านกิจกรรมสำคัญของกรมฯกว่า 700 กิจกรรม ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในปีงบประมาณ 2568 ผ่าน 510 กิจกรรมสำคัญ และหากรวมกิจกรรมย่อยจะเป็นกว่า 700 กิจกรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างมูลค่าการค้ารวมประมาณ 92,363 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการของไทยที่ได้รับประโยชน์กว่า 261,804 ราย โดยจะช่วยเร่งผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การส่งออกของไทยในภาพรวมเติบโตได้ ไม่ต่ำกว่า 2-3% ทะลุ 10 ล้านล้านบาท ตามเป้าหมายการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์

สำหรับกิจกรรมสำคัญของกรมในปี 2568 ในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ จะมีการเปิดทั้งหลักสูตรออฟไลน์และออนไลน์ กว่า 109 หลักสูตร โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) สร้างผู้ส่งออกรายใหม่เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจ

ด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ จะเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าไทยและประเทศไทย ผ่านหลายกิจกรรม อาทิ 1. โครงการส่งเสริมนักออกแบบและผู้ประกอบการ SMEs (Designers’ Room /Talent Thai/ Creative Studio Promotion) ระหว่างวันที่ 13 ม.ค. 2567 - 31 พ.ค.2568 2. กิจกรรม TTE Character Contest โดยเปิดรับผลงาน art toy ประกวดเข้าชิงรางวัล และจัดแสดงในงาน Thailand Toy Expo 2025 ระหว่างวันที่ 4-7 เม.ย. 2568 ณ Central World กรุงเทพฯ 3. โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน ปี 2568 (Carbon Neutrality 2025 : Carbon Footprint Focus)

สำหรับการเปิดประตูโอกาสทางการค้าเชิงรุก ได้กำหนดจัดคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ (Goodwill Mission) นำโดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย อาทิ สหรัฐฯ-ชิคาโกและนิวยอร์ก (2-10 ก.พ.) สวิตเซอร์แลนด์-เจนีวา (15-20 ก.พ.) ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (16-21 ก.พ.) ฮ่องกง (17-19 มี.ค.) แคนาดาและนิวยอร์ก (24 มี.ค.-2 เม.ย) สำรวจเส้นทางผลไม้ เชียงของ-เวียงจันทน์-คุนหมิง (26-29 มี.ค.) และ Cannes ฝรั่งเศส (13-21 พ.ค.) เป็นต้น ขณะเดียวกัน กรมฯจะนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ อาทิ ยุโรป สหรัฐฯ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและอาเซียน ด้วย

ที่มา - nationtv

news-20250115-01

'เวียดนาม' ขึ้นแท่นยักษ์ใหญ่ตลาดทุเรียนโลก ส่งออกไปจีนตีตื้นไทย!

ข้อมูลจากรายงานของนักลงทุน ชี้ว่า ยอดส่งออกทุเรียนของเวียดนามในปีที่แล้ว ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 7.8 เท่า คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของมูลค่าการขนส่งผลไม้และผักทั้งหมด ความสำเร็จนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในประเทศจีน เพราะคนจีนไม่ได้กินแค่ทุเรียนสดเท่านั้น แต่ยังชอบกินผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากทุเรียนด้วย เช่น ทุเรียนอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็ง รวมถึงเมนูของหวาน

ในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว จีนนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 1.53 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 238,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% จากปีก่อนหน้า ซึ่งในจำนวนนี้ เวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นสัดส่วนถึง 47% ตามหลังประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำในการส่งออกทุเรียน มาแบบติดๆ

สำหรับทุเรียนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในกลุ่มชนชั้นกลางของจีน โดยมีผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มากมาย เช่น สุกี้ทุเรียน ชาบูทุเรียน บุฟเฟต์ทุเรียน ซึ่งเวียดนามได้ประโยชน์จากความนิยมตรงนี้ โดยพยายามรักษาการผลิตที่มีคุณภาพสูงตลอดทั้งปีเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดระดับพรีเมียม ขณะที่อินโดนีเซียพยายามจะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ แต่ยอดการส่งออกทุเรียนของอินโดนีเซียในปี 2023 มีมูลค่าเพียง 36 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าผลงานของเวียดนามค่อนข้างมาก

สำนักข่าว CNBC ระบุว่า ความสำเร็จของเวียดนามในการส่งออกทุเรียน เกิดจากกลยุทธ์ที่ครอบคลุม ทั้งการปรับปรุงคุณภาพ นวัตกรรมเทคโนโลยี และการขยายตลาดต่างประเทศ เวียดนามใช้ประโยชน์จากพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 9 แสนไร่ โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงแ ละพื้นที่สูง เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้อยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ยังมีการทำข้อตกลงการค้าเชิงยุทธศาสตร์กับจีน ผ่านการส่งออกในปี 2022 ซึ่งยิ่งทำให้สถานะของเวียดนามในการส่งออกทุเรียนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่เข้มงวด มีการตรวจสอบย้อนถึงต้นกำเนิดของอาหารได้ และการนำเทคโนโลยีการแช่แข็งสมัยใหม่มาใช้

เรื่องราวความสำเร็จของทุเรียนเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าการวางแผนเชิงกลยุทธ์สามารถเปลี่ยนให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในท้องถิ่นกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงระดับโลกได้

ที่มา - pptvhd36

news-20250110-03

17 ม.ค. นี้ “คมนาคม” เคาะงบ 160 ล้าน เปิดตัว “บ้านเพื่อคนไทย”

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลางตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ในการศึกษาเรื่องพัฒนาที่อยู่อาศัยที่อยู่รอบสถานีรถไฟที่มีศักยภาพหรือโครงการบ้านเพื่อคนไทยวงเงิน 160 ล้านบาท

ส่วนสาเหตุที่มีการขออนุมัติงบกลางจากครม.เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการบ้านเพื่อคนไทยบนพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วยพื้นที่บางซื่อ กม.11, เชียงราก, สถานีธนบุรี และสถานีเชียงใหม่ นั้น เนื่องจากการศึกษาโครงการฯดังกล่าวมีมูลค่าเกิน 150 ล้านบาท จำเป็นต้องเสนอต่อสำนักงบประมาณและครม.พิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินโครงการฯ ต่อไป

ทั้งนี้ในวันที่ 17 ม.ค. 68 เวลา 14.00 น. จะเปิดตัวโครงการให้ดูบ้านตัวอย่าง พร้อมแถลงรายละเอียดของโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน (First Jobber) มีโอกาสได้ถือครองและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง 

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1. สัญชาติไทย
2. บรรลุนิติภาวะ ณ การลงทะเบียน
3. ผู้มีรายได้ ณ วันลงทะเบียนไม่เกิน 50,000 บาท / เดือน
4. ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่อาจใช้พักอาศัยได้ทุกประเภท
5. ไม่เคยได้สิทธิ์ในโครงการบ้านเพื่อคนไทย

เงื่อนไขการซื้อสิทธิ์โครงการบ้านเพื่อคนไทย

1. ผู้ซื้อสิทธิ์ 1 ท่าน มีสิทธิ์จองอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างได้ 1 หน่วย ต่อ 1 โครงการ แต่หากการพิจารณาให้สิทธิ์ในโครงการใดเสร็จสิ้นไปแล้วและไม่ได้สิทธิ์ สามารถใช้สิทธิ์จองอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอีกครั้งในจังหวัดเดิมได้

2. ห้ามโอนสิทธิ์ในโครงการบ้านเพื่อคนไทยภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันจดทะเบียนสิทธิ์

3. ห้ามนำอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในโครงการบ้านเพื่อคนไทยไปให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์หรือทำนิติกรรมในลักษณะห้ามเช่าที่เป็นการต่างตอบแทนเพื่อให้บุคคลอื่นได้ใช้ประโยชน์ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เว้นแต่เป็นการเพื่อใช้ประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัวของผู้ซื้อสิทธิ์

4. หากความปรากฎว่าผู้ซื้อสิทธิ์ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง โดยขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกสิทธิ์ในโครงการบ้านเพื่อคนไทยบอกเลิกสัญญาหรือปรับอัตราผลตอบแทนตามเหตุและปัจจัย

5. หากความปรากฎว่าผู้ซื้อสิทธิ์มีพฤติการณ์ปรากฎให้เห็นหรือเชื่อได้ว่าเป็นผู้มีรายได้เกินกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกสิทธิบ้านเพื่อคนไทยบอกเลิกสัญญาหรือปรับอัตราผลตอบแทนตามเหตุและปัจจัย

6. เงื่อนไขอื่นเป็นไปตามประกาศที่กำหนด

7. สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไขใดๆดังกล่าวข้างต้น

ที่มา - thansettakij

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us