SALE

news-20250205-01

'เฟดเอ็กซ์' ขยายศูนย์บริการสาขาแหลมฉบัง จ.ชลบุรี สนับสนุนธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (Federal Express Corporation) หนึ่งในบริษัทขนส่งด่วนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เปิดตัวศูนย์กระจายสินค้าและให้บริการแห่งใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,900 ตารางเมตร โดยการขยายศูนย์บริการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการรองรับความต้องการของธุรกิจนำเข้าและส่งออกในพื้นที่ EEC ที่มุ่งพัฒนาธุรกิจสู่ตลาดสากล

ศูนย์บริการแห่งใหม่ที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบสี่เท่าของขนาดเดิม มาพร้อมเทคโนโลยีการจัดการพัสดุขั้นสูง และระบบการคัดแยก ที่สามารถคัดแยกพัสดุได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 3,000 ชิ้นต่อชั่วโมง นอกจากนี้ ศูนย์บริการยังมีคลังสินค้าขนาด 4,560 ตารางเมตร เพื่อรองรับการขนส่งหลากหลายรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการโซลูชันการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบ และบริการที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางเครื่องบิน ทางเรือ และทางรถที่ร่วมกับ เฟดเอ็กซ์ โลจิสติกส์ เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมในการจัดการการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมาก ศูนย์บริการแห่งนี้พร้อมนำเสนอบริการเสริมด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจร ประกอบด้วย

  • บริการเหมารถสำหรับเข้ารับสินค้า/นำส่งสินค้า
  • บริการตีลังไม้
  • บริการรมยา (Fumigation)
  • บริการจัดเรียงสินค้าบทพาเลท (ขนาดมาตรฐาน หน่วยลูกบาศก์เมตร), บริการช่วยเหลือ ณ สถานที่ของลูกค้า (On-dock Support), บริการจัดส่งสินค้าอันตรายแบบครบวงจร รวมถึงบริการการจัดการพิเศษอื่นๆ

และเพื่อมอบความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นแก่ลูกค้า เฟดเอ็กซ์ ยังได้ขยายเวลาเตรียมการจัดส่งเป็น 16.00 น. สำหรับการส่งออกจากพื้นที่อุตสาหกรรมหลัก เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ศูนย์บริการแห่งนี้ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใจกลางเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ ปิ่นทอง โลจิสติกส์ ปาร์ค  ทำให้การเข้าถึงพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญเป็นไปได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการให้บริการรับ-ส่งพัสดุและสินค้าถึงมือผู้รับในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง

“เฟดเอ็กซ์ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น และการขยายศูนย์บริการสาขาแหลมฉบัง จ.ชลบุรีของเรา ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเพิ่มการเข้าถึงของลูกค้าในตลาดสากล พร้อมทั้งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” นายศศธร ภาสภิญโญ กรรมการผู้จัดการ เฟดเอ็กซ์ ประเทศไทย กล่าว “ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและการปรับการให้บริการ  ช่วยให้การขนส่งข้ามพรมแดนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้คือคุณค่าที่เรามอบให้ผู้ใช้บริการ ผ่านเครือข่ายที่เหนือชั้นและการนำเสนอบริการที่แตกต่างของเรา การขยายศูนย์บริการในครั้งนี้ ช่วยให้เราตอบสนองความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีกห้าปีข้างหน้า พร้อมเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในท้องถิ่นในตลาดโลกอีกด้วย”

“การขยายศูนย์บริการ เฟดเอ็กซ์ ในจังหวัดชลบุรีจะสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ชั้นนำในอาเซียน ด้วยการลงทุนในบริการพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่ล้ำสมัยและขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ การลงทุนในบริการดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของพื้นที่อีอีซีและประเทศไทยในการเป็นฐานการลงทุนใหม่ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าว “เรามั่นใจว่าการร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำ อย่าง เฟดเอ็กซ์ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานทางโลจิสติกส์และทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น”

ศูนย์บริการแห่งใหม่จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งคิดเป็น 15.5%[1]  ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) โดยมีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนใหม่มูลค่า
5 แสนล้านบาท พร้อมทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ให้เติบโต 6.3% ระหว่างปี 2566-2570[2]  โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับภาคตะวันออกของประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ขับเคลื่อนการลงทุน และเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ Thailand 4.0 โดยครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นทำเลยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น การบิน ยานยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การขยายศูนย์บริการสาขาแหลมฉบัง จ.ชลบุรีจะช่วยสนับสนุนการเติบโตต่อและสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งสำหรับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (SME) และธุรกิจข้ามชาติได้อย่างรวดเร็ว

news-20250203-02

'FTA' ดันไทยกลับสู่เวทีโลก เร่งทวิภาคีปูพรมขยายตลาดยุโรป

นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าวจะเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงยกระดับมาตรฐานของประเทศ เพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีโลกและเตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

การเจรจา FTA ของไทยดำเนินการอย่างเข้มข้นในสมัยที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และจีน และเมื่อพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกและดำเนินต่อเนื่องถึงรัฐบาลปัจจุบัน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยห่างหายจากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีมานาน ซึ่งการลงนามเอฟทีเอเพิ่มจะทำให้ไทยกลับเข้ามาสู่แผนที่โลก โดยรัฐบาลปัจจุบันเร่งเจรจาอีกหลายฉบับ เช่น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ นอกจากนี้ล่าสุดยังได้หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์บาห์เรน เพื่อเร่งเจรจาการค้าเชิงรุกให้ไทยเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารแก่ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งผลักดันการจัดทำ FTA ระหว่างไทยและบาห์เรน

สำหรับการเจรจากับ EU ถือว่ามีประเด็นเจรจาที่ซับซ้อน โดยจะมีการเจรจาอีกครั้งในเดือน มี.ค.2568 ณ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งที่ผ่านมาเจรจาได้ข้อสรุปเรื่องแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ และบทความโปร่งใส เพื่อสร้างความโปร่งใส ด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และจะให้เจรจาจบในปี 2568

ทั้งนี้ ยุโรปถือเป็นตลาดหลักของไทยที่ได้เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับกลุ่มยุโรป คือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2568 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับ EFTA ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์และลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นประเทศนอกสมาชิก EU เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2565 สรุปการเจรจา 15 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.การอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า

7.การค้าบริการ 8.การลงทุน 9.ทรัพย์สินทางปัญญา 10.การแข่งขัน 11.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมและแรงงาน) 13.ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ 14.ประเด็นกฎหมายและการระงับข้อพิพาท 15.วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม

สำหรับ EFTA มีขนาดเล็กแต่มีเศรษฐกิจระดับชั้นนำของโลก มีศักยภาพสูงด้านการผลิตสินค้าและบริการที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมและการศึกษา รวมทั้งปี 2566 เข้ามาลงทุนในไทยอันดับ 14 จำนวน 20 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,962 ล้านบาท โดยสวิตเซอร์แลนด์เสนอขอรับการลงในไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนขั้นตอนหลังการลงนามจะเปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนก่อนเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะออกกฎหมายรองรับข้อตกลงก่อนให้สัตยาบันคาดว่าใช้เวลารวม 1 ปี

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อตกลงกับ EFTA มีมาตรฐานสูง เช่น ข้อบทด้านการค้าที่ยั่งยืน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยจะยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับสินค้าไทย 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น อาหาร ข้าว ข้าวโพด พร้อมยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมทุกรายการ ขณะที่สินค้าที่เหลือมีการเก็บภาษีแตกต่างกัน บางรายการอาจใช้เวลา 15 ปี ด้านบริการจะมีเรื่องของการท่องเที่ยว การก่อสร้าง โรงพยาบาล, บริการทางการแพทย์, ค้าปลีก, ที่เอฟตา เปิดให้ไทยไปลงทุนได้ ส่วนไทยก็เปิดการลงทุนด้านงานวิจัย เทคโนโลยี เป็นต้น

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไทยกำลังเข้าขยายตลาดในสหภาพยุโรป เต็มที่ หลังจากลงนามกับ EFTA เหมือนประตูที่จะผ่านไป EU และแม้การส่งออกไปกลุ่ม EFTA เพียง 2% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ถือเป็นประตูที่จะสร้างความสัมพันธ์และการตลาดกับสหภาพยุโรปในอนาคต

ที่มา - bangkokbiznews

news-20250203-01

ไทย' ส่งออกข้าว' ปี 2567 ปริมาณ 9.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13% สูงที่สุดในรอบ 6 ปี

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2567 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 9.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13% นำรายได้เข้าประเทศสูงถึง 225,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% หรือประมาณ 6,434 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปี 2567 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 9 ล้านตัน และเป็นปริมาณส่งออกข้าวไทยที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 อันเป็นผลมาจากความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อรองรับกับความต้องการบริโภค ชดเชยผลผลิตที่ลดลง

บรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านอาหาร และเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศผู้ซื้อ และอินเดียมีมาตรการระงับการส่งออกข้าวขาวมาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 2566 ต่อเนื่องถึงเดือน ต.ค. 2567 ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวขาวจากอินเดียพิจารณานำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับข้าวที่ไทยส่งออกได้มากที่สุด คือ ข้าวขาวปริมาณ 5.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 23% คิดเป็น 60% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา คือ ข้าวหอมมะลิไทย 1.74 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.57% ข้าวนึ่ง 1.27 ล้านตัน ลดลง 7.97% ข้าวหอมไทย 0.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 21.15% ข้าวเหนียว 0.30 ล้านตัน และข้าวกล้อง 0.02 ล้านตัน

ทั้งนี้ ไทยยังสามารถส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในเกือบทุกภูมิภาค โดยส่งออกไปภูมิภาคแอฟริกา 3.37 ล้านตัน คิดเป็น 34% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด เพิ่มขึ้น 35% รองลงมา ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย 3.33 ล้านตัน ลดลง 8% ภูมิภาคอเมริกา 1.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 33% ภูมิภาคตะวันออกกลาง 1.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16% ภูมิภาคยุโรป 0.30 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% และภูมิภาคโอเชียเนีย 0.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 35%

ส่วนตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง ปริมาณ 1.33 ล้านตัน ลดลง 6% คิดเป็น 13% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อิรัก 1.00 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18% สหรัฐ 0.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20% แอฟริกาใต้ 0.83 ล้านตัน ลดลง 7% และฟิลิปปินส์ 0.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 48%

นางอารดากล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวปี 2568 คาดว่าตลาดการค้าข้าวโลกจะมีการแข่งขันสูงจากการกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย และปริมาณผลผลิตข้าวของทั้งประเทศผู้ส่งออกและผู้นำเข้าข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะภัยแล้งคลี่คลาย รวมทั้งภาวะทางเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ราคามีผลต่อการตัดสินใจนำเข้าข้าวมากยิ่งขึ้นด้วย

อีกทั้งผู้นำเข้าสำคัญอย่างอินโดนีเซียอาจมีความต้องการนำเข้าข้าวลดลง เนื่องจากคาดว่าผลผลิตข้าวในประเทศจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น และได้นำเข้าข้าวเพื่อสำรองสต๊อกไว้ค่อนข้างมากแล้ว โดยกรมและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้คาดการณ์ร่วมกันว่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2568 จะมีประมาณ 7.5 ล้านตัน

โดยในปี 2568 กรมมีแผนที่จะนำมาใช้ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าว ได้แก่ การจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention (TRC) 2025 และ TRC สัญจร การกระชับความสัมพันธ์และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในประเทศคู่ค้าสำคัญ การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติประจำปี เช่น

BIOFACH, Natural Products Expo West, THAIFEX-Anuga Asia และการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การรณรงค์บริโภคข้าวอินทรีย์ การร่วมกับร้านอาหาร หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ รวมทั้งได้ปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าว จากเดิมใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 3 วัน เหลือเพียง 30 นาที เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถส่งออกข้าวได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ที่มา - prachachat

news-20250106-01

'กรมพัฒน์' เร่งยกระดับธุรกิจบริการโลจิสติกส์ไทย สร้างความได้เปรียบการแข่งขัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ การส่งเสริมเทคโนโลยี และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งยกระดับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย รองรับการขนส่งสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศ ที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ (Incoterms) ซึ่งเป็นข้อกำหนดความรับผิดชอบของผู้ซื้อและผู้ขายในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ที่ช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดข้อพิพาททางการค้า

โดย Incoterms ฉบับล่าสุด คือ Incoterms 2020 ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมเงื่อนไขให้ครอบคลุมการค้าขายในยุคดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งการเลือกใช้ Incoterms ที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการกระบวนการโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดปัญหาการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนในกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่อาจนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นได้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตามเงื่อนไขของ Incoterms ได้อย่างถูกต้อง จะช่วยสร้างความได้เปรียบในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ทั้งนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเตรียมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตร ‘รู้ลึก เรื่อง INCOTERMS แบบมืออาชีพ’ ในวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมแคนทารี อมตะ บางปะกง จังหวัดชลบุรี เพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจบริการโลจิสติกส์ไทยให้สามารถบริหารจัดการภาระหน้าที่ ความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์สุภาวดี คุ้มราษฎร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจ (ธุรกิจระหว่างประเทศ) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคต่างๆ ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างแท้จริง และสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน

ที่มา - naewna

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us