News

news-20250610-01

'ซานตง' เร่งเสริมศักยภาพ 'ท่าเรือเหลียงซาน' หนุนโลจิสติกส์ถ่านหินรับดีมานด์พุ่งสูง

ท่าเรือเหลียงซาน ในเมืองจี่หนิง มณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีน กลายเป็นหัวใจสำคัญของระบบโลจิสติกส์ถ่านหินในประเทศ ด้วยบทบาทในการเชื่อมโยงพื้นที่ผลิตถ่านหินทางตะวันตกกับแถบเศรษฐกิจริมแม่น้ำแยงซีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่ความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ท่าเรือแห่งนี้ถูกพัฒนาให้รองรับกระบวนการทำเหมือง การจัดเก็บ การขนส่ง และการจำหน่ายถ่านหินแบบครบวงจร รวมถึงการขนถ่ายสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อการขนส่งทางรางเข้ากับทางน้ำอย่างไร้รอยต่อ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการจัดส่งสินค้าได้มากขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ท่าเรือเหลียงซานยังถือครองปริมาณสำรองถ่านหินสำหรับการค้าในระดับสูงถึง 40 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอรองรับความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นแต้มต่อในการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานอีกด้วย ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเสถียรภาพด้านพลังงานของจีนในระยะยาว

news-20250609-03

'เมียนมา' เร่งเครื่องส่งออกยางพารา ตั้งเป้าทะลุ 3.8 แสนตันในปีงบฯ 68-69 หวังโกยรายได้กว่า 500 ล้านดอลลาร์

เมียนมาวางเป้าหมายใหม่ในการส่งออกยางพาราในปีงบประมาณ 2568-2569 (เมษายน 2568 – มีนาคม 2569) โดยมุ่งหวังผลักดันยอดส่งออกให้ได้ระหว่าง 350,000 – 380,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถส่งออกได้ราว 300,000 ตัน และสร้างรายได้เข้าประเทศเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เจ้าหน้าที่จากสมาคมผู้ปลูกและผู้ผลิตยางพาราของเมียนมาเปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า การส่งออกยางพารายังคงเป็นหนึ่งในเครื่องจักรหลักของภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังคงเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมา คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 75% ของยอดส่งออกยางพาราทั้งหมด ขณะที่ตลาดอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และญี่ปุ่น ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ

ข้อมูลจาก “โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมา” ซึ่งเป็นสื่อภาครัฐระบุว่า ปัจจุบันเมียนมามีพื้นที่ปลูกยางพารารวมกว่า 1.4 ล้านเอเคอร์ทั่วประเทศ โดยรัฐมอญยังคงครองตำแหน่งแหล่งปลูกยางรายใหญ่ที่สุด รองลงมาคือพื้นที่ในภูมิภาคตะนาวศรี และรัฐกะเหรี่ยง

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดการค้าโลก เมียนมายังคงเดินหน้าขยายกำลังการผลิตและเพิ่มศักยภาพการส่งออกในอุตสาหกรรมยางพาราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกลายเป็นหมากสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

news-20250609-02

'คมนาคม' คว้างบ 2.3 แสนล้าน ปี 69 เดินหน้า 22 โปรเจ็กต์ยักษ์ กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

การผ่านวาระแรกของร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 วงเงินรวม 3.78 ล้านล้านบาท ได้จุดเครื่องจักรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ โดยหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับงบลงทุนก้อนโตที่สุด คือกระทรวงคมนาคม ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 261,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 16,700 ล้านบาท หรือราว 6.83%

ในจำนวนนี้เป็นงบลงทุนสูงถึง 230,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 8% พร้อมวางแผนเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ 22 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 910,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งโครงการทางหลวง มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และการพัฒนาท่าเรือคลองเตย ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อเจาะลึกงบในแต่ละหน่วยงาน พบว่า “กรมทางหลวง” ได้รับงบสูงสุดถึง 131,932 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 5,407 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 126,525 ล้านบาท สำหรับโครงการเด่น เช่น มอเตอร์เวย์นครปฐม–ปากท่อ–ชะอำ ระยะที่ 1 มูลค่า 61,154 ล้านบาท และโครงการวงแหวนรอบนอก M9 บางบัวทอง–บางปะอิน วงเงิน 16,000 ล้านบาท รวมถึงแผนขยายทางหลวง และบำรุงรักษาสะพาน มูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาท

ด้าน “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ได้งบเพิ่มขึ้นถึง 42.9% รวมกว่า 33,258 ล้านบาท ใช้เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าหลากหลายเส้นทาง เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ วงเงินรวมเกิน 3,700 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรม วงเงินสูงถึง 12,557 ล้านบาท รวมถึงสายสีเหลืองและชมพูที่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง

“การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” แม้จะถูกลดงบลงเหลือ 19,418 ล้านบาท แต่ยังมีโปรเจ็กต์สำคัญหลายรายการ เช่น รถไฟสายสีแดงอ่อน ศิริราช–ศาลายา มูลค่า 15,176 ล้านบาท สายรังสิต–มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลค่า 6,473 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ เช่น ชุมพร–สุราษฎร์ธานี และ ขอนแก่น–หนองคาย ที่รวมมูลค่ากว่า 59,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีงบจัดสรรให้หน่วยงานอื่นในกระทรวง อาทิ กรมทางหลวงชนบท 53,598 ล้านบาท กรมเจ้าท่า 4,253 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 1,123 ล้านบาท ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่าง รฟม. การทางพิเศษฯ และ ขสมก. ได้รับงบเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า

จากภาพรวมทั้งหมดสะท้อนว่า กระทรวงคมนาคมยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเชื่อว่าหากงบประมาณผ่านขั้นตอนสภาและสามารถประกาศใช้ได้ทันเดือนตุลาคมนี้ จะช่วยผลักดันให้เกิดการจ้างงาน การใช้จ่าย และการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ 2569 อย่างแน่นอน

news-20250609-01

"อธิบดีเดชา" ลุยยกระดับแรงงานโลจิสติกส์ ตั้งเป้าฝึก 13,200 คนในปี 69 รับศึกแข่งขันเศรษฐกิจโลก

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เต็มกำลัง โดยนายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของโลจิสติกส์ในฐานะฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจไทย ที่มีบทบาทเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค และเป็นปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

เพื่อยกระดับแรงงานให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง กรมฯ ได้เดินหน้าจัดอบรมทักษะเฉพาะด้านให้แก่บุคลากรโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายเดชา พร้อมด้วยรองอธิบดี ภัทรวุธ เภอแสละ และ สมชาติ สุภารี ลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้เข้าอบรม 2 หลักสูตร ได้แก่ “ภาษาอังกฤษเพื่อโลจิสติกส์” และ “พิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรวม 70 คน ประกอบด้วยผู้ประกอบการ แรงงาน และนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย โดยอบรมเฉพาะวันอาทิตย์ ระหว่างวันที่ 8–29 มิถุนายน ณ อาคาร DSD กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ภายใต้การดูแลของสถาบัน LoSa

นายเดชา กล่าวว่า ในปี 2568 กรมตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรด้านโลจิสติกส์ไว้ที่ 2,410 คน โดยดำเนินการไปแล้วกว่า 1,600 คน ขณะที่ปี 2569 ได้ตั้งเป้าฝึกเพิ่มขึ้นถึง 13,200 คน รอการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเป็นทางการ

เนื้อหาการอบรมในหลักสูตรพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ เน้นให้เข้าใจข้อกฎหมายพิเศษ ขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสาร และการใช้ระบบ E-Customs เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถลดความผิดพลาดในการขนส่ง ลดเวลาตรวจปล่อยสินค้า และลดต้นทุน รวมถึงสามารถดำเนินงานได้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล

นอกจากสองหลักสูตรดังกล่าว สถาบัน LoSa ยังเตรียมเปิดอบรมอีกหลายหลักสูตรทันสมัย เช่น การควบคุมการขนส่งด้วย RFID, การวิเคราะห์ระบบ GPS, ระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายอัตโนมัติ (AS-RS), โปรแกรมบริหารสินค้าคงคลัง และระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบในภาคโลจิสติกส์ของไทย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบัน LoSa โทร. 0 2248 4782 ต่อ 2508 หรือทางอีเมล losa@dsd.go.th และ Facebook: LoSADSD

“แรงงานที่มีทักษะคือรากฐานของโลจิสติกส์ที่เข้มแข็ง และโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพคือพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคง” อธิบดีเดชา กล่าวทิ้งท้าย

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us