admin L2D

news-20250114-02

“จีน” เปิดตัวเลขส่งออก ธ.ค. ขยายตัว 10.7% สูงกว่าคาด

'จีน' รายงาน ยอดส่งออกพุ่ง 10.7% ในเดือน ธ.ค. 2567 ซึ่งสูงเกินความคาดหมาย เผย ผู้ค้าเร่งส่งออกสินค้า ก่อนเจอกับภาษีศุลกากรของ โดนัลด์ ทรัมป์ ด้านยอดนำเข้าก็พุ่งเช่นกัน

วันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ข้อมูลการค้าของจีนสูงเกินความคาดหมายเป็นอย่างมาก ในเดือนธ.ค. 2568 โดยผู้ส่งออกเร่งการส่งออกสินค้า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรของสหรัฐภายใต้การบริหารของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะเดียวกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศก็ได้ช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีน ระบุว่า การส่งออกเพิ่มขึ้น 10.7% ในเดือนธ.ค. 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะเติบโต 7.3% และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเพิ่มขึ้น 6.7% ในเดือนพ.ย. 2567 และเพิ่มขึ้น 12.7% ในเดือนต.ค. 2567

การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและเซมิคอนดักเตอร์ มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2567 โดยเพิ่มขึ้น 13.1% และ 18.7% ตามลำดับ ทางด้านตัวเลขการนำเข้า เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนธ.ค. 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี และพลิกกลับจากการลดลงในสองเดือนก่อนหน้า สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.5% ต่อเนื่อง หลังจากหดตัว 3.9% ในเดือนพ.ย. 2567 และ 2.3% ในเดือนต.ค. 2567

การส่งออกสกุลเงินหยวนของจีนเติบโต 7.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการเติบโต 0.6% ในปี 2566

นายหวง จี้ชุน นักเศรษฐศาสตร์จีนจาก Capital Economics กล่าวว่า การใช้จ่ายทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะยังคงมุ่งเน้นไปที่การลงทุน คาดว่าจะผลักดันกิจกรรมการก่อสร้างและกระตุ้นอุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์อุตสาหกรรมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อของจีนส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลง ส่งผลให้ประเทศต้องพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการค้ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของจีนในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ การส่งออกถือเป็นจุดสว่างที่หายากในเศรษฐกิจจีนที่กำลังดิ้นรน ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าที่เพิ่มมากขึ้นกับคู่ค้ารายหลัก เช่น สหรัฐ และสหภาพยุโรป (EU) อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้เผชิญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากที่นายทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐและกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง

ที่มา - kaohoon

news-20250114-01

'ส่งออก' ปีนี้เจอมรสุมหนัก 'สรท.' ขอรัฐลดค่าไฟ - ลดดอกเบี้ย

การส่งออกไทยปี 2568 หลายหน่วยงานยังมองทิศทางไปในภาพบวก โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับภาคเอกชน วางเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีหน้าขยายตัวอยู่ในกรอบ 2-3% ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญทั้งจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งจะเห็นความชัดเจนภายหลังวันที่ 20 มกราคม 2568 นี้

ขณะที่ปัญหาสงครามยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะรุนแรงหรือยืดเยื้อหรือไม่ และยังต้องติดตามปัจจัยภายในประเทศที่จะกระทบ โดยเฉพาะต้นทุนของผู้ประกอบการ เช่น ค่าแรง ค่าไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งอัตราดอกเบี้ย ซึ่งล้วนมีผลต่อศักยภาพในการแข่งขัน ล่าสุดสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้ประเมินทิศทางการส่งออกไทยขยายตัวอยู่ในกรอบ 1-3% ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกประเมินแนวโน้มการส่งออกในปี 2568 เติบโต 1-3% มูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ยังดี เพราะมีแรงหนุนจากการเร่งนำเข้า ก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลถือศีลอดของตลาดในตะวันออกกลาง จะมีผลทำให้การส่งออกในไตรมาสแรกมีโอกาสขยายตัว 1-2% คิดเป็นมูลค่ารวม 72,000 ล้านบาท แต่ในไตรมาส 2 จะต้องประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบสงครามการค้ามากขึ้น

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องจากสงครามการค้าที่เกิดจากนโยบายทรัมป์ 2.0 รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ซึ่งอาจส่งผลทั้งด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่จะดึงนักลงทุนกลับประเทศและมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจส่งผลให้เศรษฐกิจอเมริกามีความร้อนแรง มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับประมาณการลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 4 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง ในปี 2568 รวมทั้งแนวทางการลดยกเลิกความเข้มงวดของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องของการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำ ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้ ประกอบกับสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้, ค่าเงินบาท ผันผวน จากปัจจัยภายใน รวมถึงเงินเฟ้อและนโยบายการค้าประธานาธิบดีสหรัฐ

สรท.ได้คาดการณ์การส่งออกในรายสินค้า ในภาพรวมยังขยายตัวและเป็นไปในทิศทางที่ดี เช่น การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะโต 3-10% การส่งออกสิ่งทอโต 2% ผลิตภัณฑ์ยางโต 2% น้ำตาลทรายโต 10% อาหารโต 5% ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะหดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์สำปะหลังลดลง 10% ส่วนการส่งออกอื่น เช่น ยางพารา ข้าว ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ การส่งออกคาดว่าขยายตัว 0% ซึ่งการส่งออกยังคงโตไปตามกรอบเป้าหมาย

ส่วนการส่งออกไทยปี 2567 ได้ปรับคาดการณ์ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% โดยมีมูลค่าส่งออกรวม 298,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีลุ้นที่ทั้งปีจะเติบโตได้ 5% หากในเดือนธันวาคม 2567 ไทยสามารถส่งออกได้ขั้นต่ำ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นปีที่ไทยสอบผ่าน เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญ ๆ ขยายตัวดี อาทิ ข้าวโต 12% ยางพาราโต 20-30% อาหารโต 3-5% เครื่องใช้ไฟฟ้าโต 2% และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์โต 5%

ที่มา - prachachat

news-20250113-03

คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โตชะลอ แรงหนุนส่งออก-ท่องเที่ยวแผ่ว สงครามการค้าเริ่มส่งผล

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย ตามแรงหนุนท่องเที่ยว ส่งออกที่ลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวต่อ GDP เริ่มลดลง หลังจำนวนเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด

โมเมนตัมการเติบโตของการท่องเที่ยวปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 35.6 ล้านคน มาอยู่ที่ 37.5 ล้านคนในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง

การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทิศทางสินเชื่อที่โตช้าลง ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดๆ ไปในวงเงินงบประมาณอีกราว 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนราว 0.2-0.3% ของ GDP

การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2568 ได้แรงหนุนจากฐานที่ต่ำและการเบิกจ่ายต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2568 โดยกรอบงบลงทุนภาครัฐในปี 2568 เพิ่มขึ้น 7.8% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นราว 2.0% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่คาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 75-80% สูงกว่า 65% ในปี 2567

การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการหดตัวที่เกิดขึ้นในปี 2567 สอดคล้องกับมูลค่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุนในวัสดุอุปกรณ์ (Equipment) ให้เพิ่มขึ้น

การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายการผลิตของจีน หลังจากการเกิดสงครามการค้ารอบแรก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลต่อการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ Data Center ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในการลงทุนการผลิตรถยนต์ EV ในไทย จากภาวะตลาดโลกที่เผชิญภาวะอุปสงค์ลดลง ท่ามกลางอุปทานสูง ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การเข้ามาลงทุนผลิตนถยนต์ EV ในไทยล่าช้าออกไป นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในรายการที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับไทยสูง หรือในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของจีน ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนจริงของนักลงทุนต่างชาติ

เชื่อสงครามการค้ารอบใหม่ ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า สงครามการค้ารอบใหม่จะมีผลสุทธิเป็นลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยประเทศไทย เป็น 1 ใน 15 ประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูงสุด มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ราว 2.5% แม้จะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม

สำหรับความคาดหวังต่อผลบวกจากสงครามการค้ารอบใหม่ ที่จะส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อนิคมอุตสาหกรรม อาคารสำนักงานนั้น ยังคงมีความไม่แน่นอน ต้องรอการวางกลยุทธ์ของซัปพลายเชนต่างๆ และจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย

ผลกระทบทางตรง: การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอลง ซึ่งสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มที่ไทยได้รับอานิงส์จากการเข้ามาลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตของจีนมายังไทยในสงครามการค้ารอบแรก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และยางรถยนต์

ขณะเดียวกันไทยอาจถูกเรียกร้องให้นำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ในกลุ่มที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ น้อยเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากโลก ยิ่งหากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ มีความได้เปรียบในด้านการผลิต และมีการส่งออกไปยังตลาดโลกเป็นอันดับต้นๆ เช่น ปิโตรเลียม อุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนสินค้าที่ไทยยังไม่ได้เปิดตลาดเต็มที่ เช่น สินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เป็นต้น

ผลกระทบทางอ้อม: การแข่งขันกับสินค้าจีน ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นการเข้ามาในไทยของสินค้าจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านราคาอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมจีนที่มีมาก ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น และมีผลกลับมายังภาคผลิตของไทย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก และเสื้อผ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 60% ภาคการผลิตไทยคงจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการไหลเข้ามาของสินค้าจีนในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และขนาดการปรับขึ้นภาษี ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และประเภทสินค้า

นอกจากนี้ภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแรงกว่าคาด เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับ 1 ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย

ที่มา - mgronline

news-20250113-02

'ศุลกากรจีน' Reject นำเข้าทุเรียนไทย ไม่มีผลแล็ป 'Basic Yellow 2'

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ได้รับรายงานจากฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ทางศุลกากรหนานหนิง ว่า วันนี้ (11 ม.ค.68) ทาง สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the. People's Republic China) GACC   สั่งการให้ด่านศุลกากรจีนทุกแห่งปฎิเสธการนำเข้าทุเรียนไทย หากไม่มีผลแล็ป ตรวจวิเคราะห์ “Basic Yellow 2” แนบมากับสินค้า ขณะนี้มีสินค้าที่เข้ามาทางสนามบินหนานถูก Reject แล้ว

ตามที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีนได้ตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารของทุเรียนไทยที่นำเข้ามาประเทศจีน พบปัญหาการใช้สารย้อมสีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Basic Yellow 2” ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ ลักษณะเป็นผงสีเหลืองใช้ในการย้อมผ้า กระดาษ หนัง และสีทาบ้าน

องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารนี้เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B  ทั้งนี้วันที่ 8 มกราคม  2568 จีนกำหนดให้ทุเรียนทุกล๊อตที่ส่งออกจีนต้องแนบผลวิเคราะห์ Basic Yellow 2  และผลต้องไม่พบ  โดยจีนจะสุ่มที่ด่านนำเข้าทุกล๊อตหากพบ จะระงับทันที  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 (ก่อนการออกใบ PC ในสินค้าทุเรียนทุกตู้ต้องมี test report ทั้ง Basic Yellow 2

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ต้องรอผลการประชุมในวันที่ 13 มกราคม 2568   ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในที่ประชุม คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เป็นวาระเร่งด่วน ที่อาจจะต้องหยิบยกขึ้นเจรจาระหว่างประเทศในระดับสูง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

ด้านผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนไปจีน แจ้งข่าวสาร ว่า ด่านนำเข้าปลายทางตรวจสาร Basic Yellow 2  จะใช้เวลา ประมาณ 7 วัน ทำการทราบผล แต่หากเป็นช่วงติดวันหยุดเสาร์- อาทิตย์ ด้วย รวมเป็น 9 วัน อย่างไรก็ดีในขณะนี้ยังไม่มีแล็ปอบรมแล้วพร้อมตรวจได้เลยในเมืองไทย แล้วในระยะเร่งด่วนขอเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ นำเข้าจากจีนพร้อมอุปกรณ์ มาสอนเลยจะช่วยทำให้การส่งออกไม่สะดุด

ที่มา - thaipbs

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us