admin L2D

pic3 (70)

สั่งย้ายท่าเรือคลองเตย...เขย่าทำเลทองกลางเมือง

นับเป็นอีกความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากคลองเตยโดยเร็ว และให้พิจารณาจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตยของ กทท.

ในส่วนที่ปัจจุบันยังเป็นพื้นที่ว่างหรือเป็นพื้นที่ที่สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาการจราจร ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง รวมถึงพิจารณาให้ครบวงจร ครอบคลุมถึงการย้ายคลังและโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย

 

เรื่องการย้ายชุมชนท่าเรือคลองเตยที่สำคัญแล้ว การนำพื้นที่ท่าเรือคลองเตยมาพัฒนาเชิงพาณิชย์จะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ให้เรียบร้อยก่อน เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การท่าเรือฯ กำหนดให้ที่ดินที่ กทท.ที่ได้มานั้นใช้สำหรับกิจการท่าเรือเท่านั้น ที่ผ่านมาจึงได้มีการดำเนินการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 คู่ขนานไปด้วย โดยล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอีกด้วย

 

ส่วนกรณีให้พิจารณาย้ายคลังน้ำมันและโรงเก็บน้ำมันในพื้นที่ กทท.ออก ก็มีประเด็นต้องพิจารณาคือ พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 เช่นกัน

 

ปัจจุบันพื้นที่ กทท.มีคลังน้ำมันของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR โดยพื้นที่เช่าประกอบด้วย บริเวณคลังพระโขนง-บางจาก สำนักงานเนื้อที่จำนวน 41,344 ตร.ม. และคลังน้ำมัน อาคาร และเขื่อนเทียบเรือบริเวณปากคลองบางจากและปากคลองเจ๊ก เนื้อที่จำนวน 3,500.75 ตารางวา รวมพื้นที่ทั้งหมด 44,844.75 ตารางวา สัญญา เช่าที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นระยะเวลา 15 ปี หรือถึงปี 2579 ซึ่งที่ผ่านมามีการต่อสัญญาเช่ามาตลอดระหว่าง กทท.กับ ปตท. (ก่อนหน้าที่จะปรับเป็น OR) เพราะเป็นความร่วมมือในการใช้พื้นที่การท่าเรือฯ ในการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของผู้บริโภคในเขตภาคกลาง เสริมสร้างความมั่นคง ต่อเนื่องสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนเป็นศูนย์กลางพลังงานของประเทศไทย

 

”รื้อชุมชน” หรือ "ย้ายท่าเรือคลองเตย" จะออกมาในรูปแบบใด สุดท้ายฝ่ายนโยบายต้องมีความชัดเจนก่อนว่าจะยังให้พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีกิจกรรมท่าเรือขนส่งสินค้าอยู่อีกหรือไม่อย่างไร เพราะจะว่าไปแล้วก่อนหน้านี้เมื่อปี 2549 ยุครัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" พรรคไทยรักไทย ก็มีแนวคิดในการย้ายท่าเรือคลองเตยมาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่การย้ายทั้งหมด นำมาซึ่งการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ 2,000 กว่าไร่ แต่ยังไม่ทันได้เริ่มก็เกิดรัฐประหารถูกยึดอำนาจไปเสียก่อน การที่ "เศรษฐา ทวีสิน" จะพูดถึงการย้ายท่าเรือคลองเตยอีกครั้งจึงไม่ใช่ของใหม่อะไร เป็นการย้อนความคิดของอดีตนายกฯ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ภายใต้บริบทสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ต้องดูกันว่าบทสรุปรอบนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการย้ายชุมชนหลายหมื่นหลังคาเรือนและคลังน้ำมัน ไม่ใช่เรื่องง่าย!!!

Cr: mgronline

pic2 (73)

ทัพ &'ทุเรียนไทย&' เร่งสปีดบุกตลาดจีน ปลุกกระแสผู้บริโภคแห่ซื้อ

"กดเปิดแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนแล้วเลือกทุเรียนพันธุ์ที่ถูกใจ รออยู่ที่บ้านไม่เกินหนึ่งชั่วโมงก็ได้ทุเรียนอร่อยๆ มาแล้ว" คำบอกเล่าจากหวงหรงเซิง ชาวเมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ผู้สั่งซื้อทุเรียนทางออนไลน์เป็นครั้งที่ 3 ในฤดูทุเรียนปีนี้

 

ไทยถือเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดสู่จีนเจ้าแรกและเจ้าใหญ่ที่สุด โดยความนิยมมาเนิ่นนานและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดจีนช่วยอัดฉีดแรงกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ นำพาโอกาสทางธุรกิจมาสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง

 

โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรแห่งหนึ่งของกว่างซี กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าเดือนเมษายน บริษัทของเขานำเข้าทุเรียน 50 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ตอนแรกมีแค่พันธุ์กระดุมทอง ก่อนจะเพิ่มพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และมองว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นที่นิยมของตลาดจีนต่อไปในปีนี้

ยอดจำหน่ายทุเรียนที่เฟื่องฟูช่วยเพิ่มความมั่นใจของผู้ประกอบการในการวางแผนจัดจำหน่ายในปี 2024 ดังเช่นไล่ผิงเซิง ประธานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรในกว่างซี สังกัดซีพี กรุ๊ป (CP Group) เผยแผนการนำเข้าทุเรียนไทย 3,000 ตู้ โดยส่วนหนึ่งจะถูกจัดจำหน่ายในกว่างซีราว 324 ตัน ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าเป้าหมาย 600 แห่ง

 

โม่เสริมว่าตอนนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นไม่หยุดเช่นเดียวกับความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่ขยับขยายต่อเนื่อง ส่วนทุเรียนไทยจะยังคงเป็นดาวเด่นในตลาดจีนต่อไป และคาดว่ายอดจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนจะแตะระดับสูงสุดภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว

Cr: mgronline

pic1 (67)

เรียนโลจิสติกส์ การันตีมีงานทำ 100% รับธุรกิจขนส่ง การค้าระหว่างประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ รุ่นที่ 1  ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีน.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารกรมฯ ให้การต้อนรับ ณ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เขตบางนา กรุงเทพฯ

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศในครั้งนี้จะเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม บริบทต่างๆ  การดำเนินชีวิตประจำวันที่มีความทันสมัยและรวดเร็วมากขึ้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เข้ามามีบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นกลไกที่ส่งผ่านมูลค่าของสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้รับหรือผู้บริโภค

Cr: bangkokbiznews

pic2 (71)

ลงนามความร่วมมือส่งออกและขนส่งทุเรียนไทยทางรถไฟไปจีน แก้ปัญหาสินค้าติดค้างด่านชายแดน

ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งออกและขนส่งทุเรียนไทยทางรถไฟไปประเทศจีน แก้ปัญหาสินค้าติดค้างที่ด่านชายแดน เน้นย้ำเกษตรกรต้องรักษาคุณภาพทุเรียนไทยเนื่องจากประเทศจีนยังมีกำลังซื้ออีกมาก

นายไกรยสิทธิ์ อินทรพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) เผยว่า บริษัท GML เป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร เชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งของประเทศไทยที่ครอบคลุมการขนส่งทางราง ทางทะเล ทางบก และทางอากาศ เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ

 

อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และการขนส่งทุเรียนทางรถไฟเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์ด้านคุณภาพ ด้านราคา ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าเกษตรของไทยอย่างแท้จริง

 

และยังบอกอีกว่า GML มีความพร้อมในการให้บริการขนส่งสินค้าเกษตรของไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีนในหลายเส้นทาง เช่น  คุนหมิง กวางโจว ฉงซิ่ง เฉิงตู และเจิ้งโจว อีกทั้ง GML มีบริการตู้สินค้าควบคุมความเย็นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าเกษตรให้ลูกค้ากว่า 1,000 ตู้ และตั้งแต่เริ่มฤดูกาลปีนี้ GML ได้ขนส่งทุเรียนไปแล้วกว่า 100 ตู้

"ประเทศจีนยังมีความต้องการทุเรียนคุณภาพจากไทยอีกจำนวนมาก โดยการส่งออกนี้ยังราบรื่นไม่มีปัญหา และยังดีอีกด้วย รวมทั้งปีนี้มีการขนส่งทางราง หรือรถไฟเข้าช่วยในการขนสินค้า ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาดีตามไปด้วย

Cr: mgronline

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us