News Update

news-18112024-02

'ท่าเรือสีเขียวของไทย' ไม่ไกลเกินฝัน? กทท. ใช้แผน 2D พลิกโฉมท่าเรืออย่างไร?

"ยุทธศาสตร์ 2D" ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย นำมาใช้เป็นกระดูกสันหลังในการพัฒนา พร้อมขึ้นแท่นฮับเป็นขนส่งทางน้ำ และท่าเรือสีเขียวชั้นนำของโลก

แน่นอนว่าการขนส่งทางทะเลมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะมีส่วนช่วยผลักดันการค้าทั่วโลกถึง 90% แต่ปัญหาที่ชวนปวดหัวก็คือ ระบบการจัดการท่าเรือนั้นกำลังมุ่งทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษทางน้ำ อากาศ การปนเปื้อนสารอันตราย รวมถึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 3% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2050

ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม กำลังเร่งผลักดันแนวคิดในการมุ่งสู่การเป็นท่าเรือสีเขียว ที่ลดมลพิษทั้งทางน้ำ อากาศ และตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในอนาคต 

เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวในงานงานสัมมนา POSTTODAY Thailand Smart City 2025 การจัดการเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและ AI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” ในหัวข้อ Smart Port For Green Ecocomy ว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้า พร้อมตั้งเป้าลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2050

คำถามสำคัญคือ เราจะจัดการท่าเรืออย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม?
คำตอบของคำถามเมื่อครู่ สามารถสรุปได้ภายใน 2 คำ นั่นคือ 2D โดยย่อมาจากคำว่า Digitalization = การนำเทคโนโลยีมาใช้ และ Decarbonization ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อลดของเสีย 

นายเกรียงไกร เปิดเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสสตร์ ที่ท่าเรือของไทยได้เพิ่มขีดความสามารถขนส่งสินค้าได้ 10.7ล้านตู้ อีกทั้งยังมีปริมาณการนำเข้า และส่งออกใกล้เคียงกัน และเราให้ความสำคัญกับการดึงศักยภาพของท่าเรือชั้นนำโลกนำมาปรับใช้กับท่าเรือในประเทศ

ทั้งนี้ นายเกรียงไกรยังเปิดเผยอีกว่า การนำเทคโนโลยี และการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การสนับสนุนภาคธุรกิจด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น

ที่มา - springnews

news-18112024-01

"อินเดีย" ตลาดโตเร็ว โลจิสติกส์ปัญหาใหญ่นักลงทุน

"อินเดีย"มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน และชนชั้นกลางที่เติบโตเร็ว กำลังซื้อและความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารแปรรูป และเทคโนโลยี

นางสาวสุจิรา ปานจนะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย กล่าวกับ"กรุงเทพธุรกิจ "ว่า รัฐบาลอินเดียมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น Make in India และ Production-Linked Incentive (PLI) ที่สร้างโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนและสร้างโรงงานในอินเดีย

ทั้งนี้อินเดียมีความโดดเด่นในด้านการเปิดตลาดด้านบริการและเทคโนโลยี ซึ่งธุรกิจด้านไอที ฟินเทค และโลจิสติกส์เติบโตก้าวกระโดด  รวมทั้งอินเดียมีแรงงานด้านเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นโอกาสดีในการร่วมลงทุนหรือจ้างงานในธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

สำหรับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อินเดีย ช่วยลดภาษีนำเข้าและส่งเสริมการค้า จำนวน 83 รายการ และ FTA อาเซียน-อินเดีย จำนวน 5,200 รายการ 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวสูง และมีนโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศ แต่นักลงทุนต่างประเทศต้องเผชิญความท้าทายความและความซับซ้อนของระบบราชการ เพราะอินเดียมีระบบการปกครองที่ประกอบด้วยรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละรัฐ (State Governments) ทำให้มีหน่วยงานราชการแตกต่างทั้งระดับกลางและระดับรัฐ 

รวมทั้งทำให้การติดต่อประสานงานหน่วยงานราชการซับซ้อนและต้องใช้เวลามาก โดยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับแต่ละรัฐแตกต่างกันด้วย

ที่มา - bangkokbiznews

news-15112024-01

LEO ควัก 160 ล้านบาท เปิดตัว “LEO COLDBOTIC” ศูนย์จัดเก็บ-กระจายสินค้า แห่งแรกในไทย

‘ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์’ ทุ่มงบ 160 ล้านบาท เปิดตัว “LEO COLDBOTIC” ศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า (Logistics Center) ควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะสำหรับเก็บไวน์แห่งแรกของประเทศไทยและเป็นคลังสินค้าฑัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ที่ได้รับ BOI ประเภทกิจการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย รวมทุกจุดเด่นการให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตรฐาน พร้อมจุดขายใหม่ Wine Tasting Area ที่ออกแบบมาเพื่อเจาะกลุ่มไวน์เลิฟเวอร์โดยเฉพาะ บิ๊กบอส “เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” มั่นใจต่อยอดธุรกิจ Non-freight และ Non-Logistics ช่วยสร้างรายได้เพิ่มจากการบริการจัดการด้าน Warehouse / Distribution Center ดันผลงานปี 67 มาตามนัด

นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (LEO) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัว “LEO COLDBOTIC” คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่ใช้ระบบ Automation & Robot  ระบบอัจฉริยะใช้ Robot ทำงานแทนมนุษย์ แห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เก็บสินค้าประเภทไวน์  ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเทียบเรือ สหไทยฯ ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้งบลงทุน 160 ล้านบาท และยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติจากทางกรมศุลกากรให้เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ซึ่งลูกค้าที่มาใช้บริการสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องภาษีนำเข้าของการใช้คลังสินค้าทัณฑ์บนทุกประการ และยังเป็น Bonded Cold Chain Logistics Center ที่ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจและการค้าของกรุงเทพมหานครมากที่สุด

“LEO COLDBOTIC เป็นการให้บริการคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า (Warehouse / Logistics Center) แบบครบวงจร  ที่มีระบบควบคุมอุณหภูมิฉริยะควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ด้วยระบบ 4-ways shuttle Automatic รายแรกของประเทศไทยในการจัดเก็บสินค้าประเภท Wine & Spirit   สามารถจัดเก็บสินค้าประเภทไวน์ ในระหว่างช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ 15-18 องศาเซลเซียส ได้มากกว่า 1.2 ล้านขวด นอกจากนี้ยังสามารถนำเสนอบริการโลจิสติกส์ได้อย่างครบวงจรในลักษณะ End-to-End Global Logistics  เหมาะสำหรับลูกค้าในกลุ่มผู้นำเข้าไวน์ ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม และร้านอาหาร เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้ง ยังได้รับสิทธิ์ BOI ประเภทกิจการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย (Distribution Center: DC)”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO กล่าวอีกว่า สำหรับไฮไลท์ของ LEO COLDBOTIC อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ห้อง Wine tasting  สำหรับลูกค้าที่มาเก็บไวน์ที่คลังของเราได้จัดพื้นที่นำเสนอไวน์ให้กับลูกค้า สามารถนั่งชิมไวน์ในบรรยากาศหรูหรา  รวมถึงมีห้องประชุมสำหรับพูดคุยเรื่องธุรกิจเพิ่มเติมด้วย

ขณะที่การดำเนินงานในไตรมาส 3/2567 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวม จำนวน 513.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141.1 ล้านบาท หรือ 38% จากไตรมาส 2/2567 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 เพิ่มขึ้น 187.6 ล้านบาท หรือ 58% เมื่อเปรียบเทียบ 9 เดือนปี 2567 กับ 9 เดือนปี 2566 เพิ่มขึ้น 225.1 ล้านบาท คิดเป็น 22%

“บริษัทฯ เชื่อมั่นว่านับตั้งแต่ไตรมาส 4/2567 บริษัทฯจะมีการเติบโตของรายได้และกำไรขั้นต้นจากการรับรู้รายได้ของหน่วยธุรกิจใหม่ๆ เช่น โครงการ Self-Storage และ Wine Storage สาขา ถนนพระราม 4 โดยรายได้ของธุรกิจ Self-Storage มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 3/2567 โดยมีการเติบโตถึง 98% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2566 และเมื่อเปรียบเทียบ 9 เดือนปี 2567 กับ 9 เดือนปี 2566 เพิ่มขึ้น 68% รวมถึงโครงการอื่นๆที่ได้มีการจัดตั้งในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่  การขนส่งทางรางไปยังประเทศจีน-ลาว ของบริษัท LaneXang Express การขนส่งสินค้าทางรางภายในประเทศของบริษัท Sritrang Leo Multimodal Logistics การให้บริการศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า ของบริษัท Advantis Leo และการส่งออกสินค้าทุเรียนไปยังประเทศจีนจากบริษัท LEO Sourcing & Supply Chain ซึ่งบริษัทดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ ในการเพิ่มรายได้จากธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีสัดส่วนของรายได้มาเป็น 30-35% จากยอดรวมของบริษัทฯ ใน 1-2 ปีข้างหน้า”

news-13112024-01

'คมนาคม' ลุยศึกษาเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดโมเดล 4 ประเทศแก้ปัญหาได้จริง

นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ทั้งข้อดีของการดำเนินการพื้นที่ที่จะดำเนินการ อัตราค่าธรรมเนียม รูปแบบการชำระค่าธรรมเนียม รูปแบบการดำเนินการในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และนำมาเปรียบเทียบความน่าจะเป็นกับความเหมาะสมในประเทศไทย รวมถึงระบบ ทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วน สังคม สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม และระบบการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก

ทั้งนี้ จากการรายงานของ สนข. ถึงผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2562 - 2565 สนข. ได้ความร่วมมือจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ในการดำเนินการศึกษาและพิจารณารายละเอียดของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ขณะนี้ สนข. ได้ทบทวนผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนนโยบาย ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เบื้องต้นได้ศึกษาถึงมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในพื้นที่ที่มีการพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า และรถขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม และมีความสะดวกในการใช้งานแล้ว เพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยจะมีการจัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะรอง (ฟีดเดอร์) เพื่อขนส่งผู้โดยสารมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะหลักอย่างระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจร สามารถกำหนดระยะเวลาในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังลดมลพิษทางอากาศ และที่สำคัญการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดนั้น จะนำเงินที่ได้รับดังกล่าวมาสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นการลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อีกด้วย

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า ในการศึกษาของ สนข. นั้น ยังได้นำรูปแบบการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดใน 4 ประเทศที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้กับประเทศไทยให้มีความเหมาะสม ได้แก่ 1) ลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีการใช้ระบบกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ (ANPR) เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง รัศมีขนาด 21 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) จัดเก็บในช่วงวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 07.00 - 18.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 12.00 - 18.00 น. แต่ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

โดยจัดเก็บในราคา 15 ปอนด์ต่อวัน (ประมาณ 658 บาท) ส่วนวิธีการชำระเงินนั้นสามารถชำระได้ในช่องทางแอปพลิเคชันและออนไลน์ ซึ่งผลลัพธ์จากการศึกษามาตรการเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนที่ลอนดอน พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 16% และมีปริมาณผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18% 2) ประเทศสิงคโปร์ จัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง ทางด่วน และพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ในวันจันทร์ - เสาร์ ช่วงเวลา 06.00 - 22.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในราคา 1 - 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ (26 - 158 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ ช่วงเวลา และพื้นที่ สามารถชำระเงินได้ที่ชุดควบคุมภายในรถ (IU) โดยเชื่อมต่อกับเครื่องชำระเงินผ่านบัตรแทนเงินสด หรือบัตรเดบิต / เครดิต

ส่วนระบบการทำงานนั้นจะใช้เทคโนโลยีวิทยุระบุความถี่ (RFID) เพื่อทำการเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดโดยอัตโนมัติจากยานพาหนะที่ติดตั้ง IU ที่ผ่านไปใต้ประตู ERP โดยผลลัพธ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 15% 3) สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จัดเก็บในพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองทางหลวงพิเศษเอสซิงเกเลเดน (Essingeleden Motorway) ในวันจันทร์ - เสาร์ เวลา 06.30 - 18.29 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในราคา 11 - 45 โครนาสวีเดน (35.53 - 145.35 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ ช่วงเวลา และพื้นที่ โดยกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ จะตรวจจับค่าผ่านทางบนถนน โดยจะบันทึกยานพาหนะทั้งหมด และมีการส่งใบแจ้งหนี้ไปยังเจ้าของยานพาหนะในช่วงสิ้นเดือน

ทั้งนี้ ผลลัพธ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ พบว่า จราจรติดขัดลดลง 20% มีการใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่ม 5% ขณะที่ โกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ได้มีการจัดเก็บในพื้นที่ใจกลางเมืองโกเธนเบิร์กทั้งหมด และถนนสายหลัก E6 ในวันจันทร์ - เสาร์ เวลา 06.30 - 18.29 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในราคา 9 - 22 โครนาสวีเดน (29.07 - 71.06 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ ช่วงเวลาและพื้นที่

ส่วนรูปแบบการชำระเงินและการดำเนินการ จะเป็นเช่นเดียวกันกับสต็อกโฮล์ม โดยการดำเนินการในโกเธนเบิร์กนั้น พบว่า จราจรติดขัดลดลง 10% และใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่ม 6% 4) มิลาน ประเทศอิตาลี ได้ติดตั้งกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ใจกลางเมืองมิลาน บริเวณเซอร์เคีย เดย บาสติโอนี่ (Cerchia dei Bastioni) แบ่งเป็นวันจันทร์ อังคาร พุธ และศุกร์ เวลา 07.30 - 19.30 น. ส่วนวันพฤหัสบดี เวลา 07.30 - 18.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) จัดเก็บในราคา 2 - 5 ยูโรต่อวัน (76.42 - 191.05 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ สามารถชำระเงินได้ผ่านตู้ชำระเงินบริเวณที่จอดรถ เครื่องเอทีเอ็ม แอปพลิเคชัน และระบบออนไลน์ โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 34%

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศที่ดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด พบว่ามีปริมาณผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าก่อนเริ่มใช้มาตรการนั้น ประชาชนจะตั้งข้อสังเกตุในหลายกรณี แต่เมื่อหลังเริ่มใช้แล้วพบว่าประชาชนให้การสนับสนุนและให้การยอมรับ

นายกฤชนนท์ กล่าวอีกว่า ในผลการศึกษาฯ ยังระบุอีกว่าก่อนที่จะเริ่มใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวข้างต้นนั้น มีประชาชนไม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ภายหลังจากเริ่มแล้วกลับมาให้การยอมรับและเห็นด้วยอย่างมาก เช่น สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก่อนเริ่มมาตรการฯ ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ 21% และภายหลังเริ่มมาตรการให้การยอมรับเพิ่มเป็น 67% ขณะที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนเริ่มมาตรการฯ ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ 39% และภายหลังเริ่มมาตรการให้การยอมรับเพิ่มเป็น 54% อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการอย่างละเอียด รอบคอบ เป็นธรรม และพร้อมรับฟังทุกเสียงของพี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมแน่นอน

ล่าสุดในปี 2567 สนข. อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนในการศึกษา Congestion Charge โครงการของ UK PACT โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดนโยบายเพื่อใช้กำหนดรูปแบบ วิธีการ และค่าธรรมเนียม ในการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาในเขตพื้นที่ที่มีการติดขัดของการจราจรสูง โดยจะต้องศึกษามาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในพื้นที่ที่มีการพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า รถขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม และมีความสะดวกในการใช้งานแล้ว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการศึกษาคาดเห็นความชัดเจนในปี 2568

ที่มา - nationtv

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us