News Update

news-12112024-01

"Asian Highways" เสริมศักยภาพโลจิสติกส์ภาคอีสาน

กรมทางหลวงโดยโดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้เร่งดำเนินการโครงการก่อสร้าง ทล.202 สายบ้านน้ำปลีก - บ้านหนองผือ จังหวัดอำนาจเจริญ แล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนสัญจรแล้ว

ทางหลวงสายนี้จะเป็นเส้นทางที่เสริมศักยภาพโครงข่ายเศรษฐกิจอีสานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมโยง 4 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่ง ทล. เล็งเห็นว่าการขนส่งสินค้าในเส้นทางสู่ภาคอีสานนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวง Asian Highways เชื่อมโยงเวียดนาม - สปป.ลาว - ไทย - เมียนมา

ที่มา - bangkokbiznews

news-20241109-02

ทุบทิ้งแน่ 3 สะพานข้ามแยกใจกลางกรุง ลุยรถไฟฟ้าสายสีส้ม จับตาจราจรติดหนึบ

ทุบทิ้งแน่ 3 สะพานข้ามแยกใจกลางกรุง ลุยรถไฟฟ้าสายสีส้ม จับตาจราจรติดหนัก ช.การช่าง เข้าพื้นที่รื้อย้ายสาธารรูปโภค - เขตทางขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน สร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม - กทม. วางแผน รฟม. จับมือแก้รถติด

การลงมือก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) ของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เอกชนฐานะคู่สัญญากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ในการนี้ บมจ.ช.การช่าง รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้างอุโมงค์และทางวิ่ง โดยลงพื้นที่รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค และเขตทาง ส่งผลให้รฟม.ประกาศปิดเบี้ยงจราจร เริ่มวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไปเพื่อก่อสร้าง 5 สถานีแรก โดยเริ่มจากสถานีสายสีส้ม ประตูน้ำ เป็นพื้นที่แรก ในเดือนมกราคมปี 2568 และทยอยปิดเบี่ยงจราจร ในสถานีที่เหลือ โดยเฉพาะเขตพื้นที่ อ่อนไหว พื้นที่อนุรักษ์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ บนเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ต้องระมัดระวัง

ที่น่าเป็นกังวลและส่งผลให้จราจรติดขัดคับคั่งในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน นั่นคือการทุบทิ้งสะพาน ข้ามแยกสำคัญๆ 3แห่ง ที่ดูแลโดย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน  ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง3 สะพานข้ามแยกรองรับปริมาณจราจรที่มาจากทั่วทุกสารทิศในเขตเมือง ส่งผลให้  กทม.มีความกังวลมากที่สุด ที่ต้องทุบทิ้ง หรือรื้อสะพานข้ามแยก 3 แห่ง ได้แก่ สะพานข้ามแยกประตูน้ำ  สะพานข้ามแยกราชเทวี และสะพานแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบส่งมอบถนนตลอดความกว้างเขตทางตามแนวถนนที่รถไฟฟ้าสายสีส้มผ่าน เพื่อให้ รฟม. ก่อสร้าง และส่งมอบคืน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีการลงนาม MOU ระหว่าง กทม.กับผู้ว่าการ รฟม.ในสัปดาห์นี้

ที่มา - thansettakij

sea-freight-2024

เปิด 3 ปัจจัยหนุนโลจิสติกส์ คลังสินค้าบูม อีวี - อีคอมเมิร์ซ - อิเล็กทรอนิกส์

มาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายตัวแทนนายหน้า บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดโลจิสติกส์และคลังสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เติบโตสูงจากแรงผลักดันทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา อุปทานรวมเพิ่มขึ้น 8.9% ครึ่งปีต่อครึ่งปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (BMR) และเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด อัตราการครอบครองอยู่ที่ 85% สะท้อนถึงความต้องการที่แข็งแกร่งเนื่องจากการดูดซับสุทธิที่สูงถึง 458,224 ตร.ม.

เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และอิเล็กทรอนิกส์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุปสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการในการจัดส่งแบบ Last-Mile ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยานยนต์มีความต้องการพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้น ได้รับแรงหนุนจากการขยายฐานการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับหลักการด้านความยั่งยืนทั่วโลก

ขณะที่การขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น 15.9% ปีต่อปี เนื่องจากเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์การแพทย์ ในขณะที่การขนส่งทางบกก็มีส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมลอจิสติกส์ โดยได้แรงหนุนจากการค้าข้ามพรมแดนกับจีนและมาเลเซีย การขนส่งทางรถไฟเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 51.3% ปีต่อปี บ่งชี้ถึงศักยภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้าในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ในส่วนของอุปทานในอนาคตโดยเฉพาะในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องในศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกำลังให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับอัตราการดูดซับของตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงระยะเวลาที่มีพื้นที่ว่าง อัตราค่าเช่ายังคงที่ที่ 158 บาท/ตร.ม. โดย BMR มีอัตราค่าเช่าสูงสุดที่ 230 บาท/ตร.ม. สำหรับอสังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมียม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้านลอจิสติกส์จะยังคงแข่งขันได้ โดยมีความต้องการที่ยั่งยืนจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระบบคลังสินค้าอัตโนมัติและโซลูชันที่ยืดหยุ่น

ปัจจุบันอุปทานรวมของคลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 8.9% ครึ่งปีต่อครึ่งปี แตะระดับ 6.27 ล้านตร.ม.ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อุปทานใหม่คิดเป็น 9% ของอุปทานทั้งหมดที่เพิ่มในช่วงเวลานี้ ได้แรงหนุนจากหลายโครงการ ส่วนใหญ่ในชลบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี พร้อมกับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่

โดยเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงถือครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด เพิ่มขึ้น 9.9% จากครึ่งปีก่อน แตะระดับ 2.8 ล้านตร.ม. คิดเป็น 45% ของอุปทานคลังสินค้าทั้งหมด โดย 41% อยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ อีสเทิร์นซีบอร์ดครองส่วนแบ่งเป็นอันดับสอง มีพื้นที่ 2.4 ล้านตร.ม. คิดเป็น 38% ของอุปทานคลังสินค้าโดยรวม

ที่มา - bangkokbiznews

news-20241109-01

'KEX' สรุป 9 เดือน ขาดทุน 3,286 ล้าน แจงเหตุโลจิสติกส์แข่งขันรุนแรง ลดขนส่งพัสดุแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ไตรมาส 3 ปี 2567 Kerry Express ผู้ให้บริการจัดส่งด่วน ได้รีแบรนด์โดยเปลี่ยนชื่อและเครื่องหมายการค้าเป็น KEX หลังจากเสร็จสิ้นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) ในเดือนสิงหาคม 2567 ด้วยจำนวนหุ้นรวม 1,762,393,295 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 5,639,658,544 บาท จากการสนับสนุนของผู้ถือหุ้นใหม่ SF Express ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ที่สุดในจีนและเอเชีย ผ่านบริษัทย่อย SF International Holding (Thailand) เพื่อเสริมฐานะการเงินและสภาพคล่อง

หลังปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ได้สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 มีรายได้จากการขายและบริการ 2,505 ล้านบาท ลดลง 6% เทียบไตรมาสก่อนหน้าและลดลง 13% เทียบปีก่อน ขาดทุนสุทธิ 1,035 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 3% เทียบไตรมาสก่อน และขาดทุนเพิ่มขึ้น 15% เทียบปีก่อน

ส่วนรายได้จากการขายและบริการ 9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 7,718 ล้านบาท ลดลง 14% เทียบปีก่อน จากการลดลงของปริมาณจัดส่งพัสดุในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ ขาดทุนสุทธิ 3,286 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 20% เทียบปีก่อน

KEX สรุปไตรมาส 3 ดังนี้

  • รายได้และปริมาณการจัดส่งพัสดุลดลง 10% เทียบไตรมาสก่อน และลดลง 19% เทียบปีก่อน สาเหตุหลักมาจากกลยุทธ์ที่เน้นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ให้ผลตอบแทนสูงและบริหารจัดการปริมาณจัดส่งพัสดุที่เหมาะสมกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและลดการขาดทุนจากการแข่งขันรุนแรงระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายอื่น (สอดคล้องกับประกาศจาก “ช้อปปี้” ได้แจ้งผู้ใช้บริการว่า KEX ยุติให้บริการขนส่งผ่านแพลตฟอร์มตั้งแต่ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567)
  • ขณะที่สัดส่วนรายได้จากผู้ใช้บริการประเภท C2C เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 42% เป็น 49% จากกลยุทธ์ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บริการที่ให้ผลตอบแทนสูง และหาลูกค้ารายใหม่เพื่อชดเชยปริมาณลูกค้ากลุ่มแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซลดลง
  • แผนธุรกิจต่อไปของ KEX จะกระจายไปสู่แหล่งรายได้ใหม่เพิ่มอัตรากำไร โดยเฉพาะจากผู้ใช้บริการรายย่อย การให้บริการแบบครบวงจร การจัดส่งระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงไทยกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ด้วยการใช้เครือข่ายระดับโลกและเทคโนโลยีจาก SF Express บริษัทแม่

ย้อนหลังผลประกอบการ KEX (Kerry Express) ขาดทุนต่อเนื่อง

ปี 2565 รายได้ 17,145 ล้านบาท ขาดทุน 2,829 ล้านบาท

ปี 2566 รายได้ 11,541 ล้านบาท ขาดทุน 3,880 ล้านบาท

ปี 2567 (9 เดือน) รายได้ 7,718 ล้านบาท ขาดทุน 3,286 ล้านบาท

ที่มา - brandbuffet

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us