News Update

news-20250120-02

'ARV' ส่งออกอากาศยานอัตโนมัติไร้คนขับ 'HORRUS' เจาะตลาดญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

ARV ส่งออกอากาศยานอัตโนมัติไร้คนขับ "HORRUS" ผ่าน TAIHO เจาะตลาดญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ย้ำศักยภาพนวัตกรรมฝีมือคนไทยในระดับสากล

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในหลากหลายภาคส่วน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ การถ่ายภาพ การขนส่ง หรือแม้แต่การช่วยเหลือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อากาศยานไร้คนขับได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ได้อย่างหลากหลาย ส่งผลให้ความต้องการอากาศยานไร้คนขับทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับความร่วมมือกับบริษัท TAIHO ถือเป็นก้าวสำคัญของ ARV ที่ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ แต่ถือเป็นการเปิดประตูสู่ตลาดโลกในวงกว้างอีกด้วย โดยอากาศยานอัตโนมัติไร้คนขับ Horrus ถูกออกแบบมาเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจ เฝ้าระวัง และรักษาความปลอดภัยทางอากาศ ที่สามารถปฏิบัติงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 นาทีต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

โดยสามารถกลับสู่สถานีชาร์จเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจครั้งต่อไปได้อย่างอัตโนมัติ รวมถึงการควบคุมการบินได้จากระยะไกลที่รัศมี 7 กิโลเมตรจากสถานีชาร์จ เทคโนโลยีนี้ยังสามารถส่งข้อมูลภาพถ่ายและวิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K 30fps ได้แบบเรียลไทม์ ผ่านระบบสื่อสารไร้สาย เพื่อนำไปวิเคราะห์ผ่านแพลตฟอร์ม Horrus และประยุกต์ใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

นอกจากนี้ ARV ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสำหรับการส่งออก Horrus ไปยังประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ นับว่ามีมาตรฐานที่สูงมาก ด้วยระบบการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ตั้งแต่การจัดทำคู่มือการใช้งานที่เข้าใจง่าย ไปจนถึงการให้บริการหลังการขายที่รวดเร็ว จะช่วยทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและมีความต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราเชื่อมั่นว่า Horrus จะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในประเทศญี่ปุ่น และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

Mr. Kazuyuki Inui ประธานบริษัท TAIHO กล่าวว่า เรามีความเชี่ยวชาญด้านการจัดจำหน่ายเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่การนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ซึ่งเราเล็งเห็นศักยภาพในเทคโนโลยีอากาศยานอัตโนมัติไร้คนขับ Horrus ว่าสามารถเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของตลาดญี่ปุ่นในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุน ในระยะแรกของความร่วมมือ TAIHO มีแผนการดำเนินการนำ Horrus ไปเสนอให้กับกลุ่มลูกค้าด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์ โดยจุดเด่นของ Horrus คือความสามารถในการปรับแต่งฟังก์ชันการทำงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย

ที่มา - thairath

news-20250120-01

เปิดงบ ”คมนาคม” ปี 68 กว่า 1.1 แสนล้าน ลุย 63 โครงการลงทุนเกิน 1,000 ล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ

เดือนมกราคม 2568 ถือได้ว่าเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2568 จึงต้องจับตาเรื่องการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม เนื่องจากมีโปรเจ็กต์ก่อสร้างงานโครงการขนาดใหญ่ ที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศได้อย่างมาก ซึ่งหลายโครงการเริ่มขยับ ผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมา แต่ก็ยังมีอีกหลายโครงการที่รอ ครม. อนุมัติ ซึ่ง ”สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คงต้องออกแรงเข็นอย่างต่อเนื่อง

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการฯคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ นางมนพร เจริญศรีและนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” ติวเข้ม…ทุกหน่วยงาน เพื่อวางแผน การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2568 และการดำเนินงานโครงการใหม่ที่สำคัญในปี 2569 ให้เป็นรูปธรรม มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับให้บริการระบบขนส่งสาธารณะและเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย

ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้วางแผนการดำเนินโครงการด้านคมนาคม ในปี 2568 จำนวนทั้งสิ้น 223 โครงการ วงเงินลงทุน 136,492.43 ล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่อง 107 โครงการ วงเงินลงทุน 53,622.78 ล้านบาท และโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงินลงทุน 82,869.65 ล้านบาท

จากจำนวน 223 โครงการ หากดูเฉพาะโครงการที่มีงบลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโครงการใหม่ ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2568 มีจำนวน 29 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 893,735.91 ล้านบาท โดยจะเบิกจ่ายงบปี 2568 จำนวน 57,140.08 ล้านบาท และกลุ่มโครงการต่อเนื่อง จำนวน 34 โครงการ วงเงินรวม 1,794,574.65 ล้านบาท เบิกจ่ายงบปี 2568 จำนวน 53,673.06 ล้านบาท

ตามแผนงานกระทรวงคมนาคม แบ่งออกเป็น การขนส่งทางถนน จำนวน 10 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 203,027.65 ล้านบาท เบิกจ่ายในปี 2568 จำนวน 20,597.11 ล้านบาท โดยเป็น โครงการของกทพ. 2 โครงการ ได้แก่ ทางพิเศษ Double Deck เป็นการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น ระยะทาง 17 กม. มูลค่าทั้งโครงการ 34,800 ล้านบาท เบิกจ่ายปี 68 จำนวน 7,250 ล้านบาท ดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ 2562 โดยเจรจากับ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เป็นผู้ลงทุน

โครงการของกรมทางหลวง 8 โครงการ ได้แก่ ก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำ ริมถนนวิภาวดีรังสิต (ระยะที่ 3) มูลค่าทั้งโครงการ 2,610 ล้านบาท เบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 1,566 ล้านบาท , มอเตอร์เวย์ สาย M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.920 กม. มูลค่า 3,092.90 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 814.39 ล้านบาท

มอเตอร์เวย์ M5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต -บางปะอิน (ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ) ระยะทาง 22 กม. มูลค่า 31,358 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 78 ล้านบาท
ครม.อนุมัติแล้วอยูอยู่ในขั้นตอนประมูลคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน ( PPP Gross Cost ) เปิดให้บริการปี 73

มอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก ช่วงทางยกระดับบางขุนเทียน -บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. มูลค่า 56,035 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 2,126.50 ล้านบาท ครม.อนุมัติแล้วอยูอยู่ในขั้นตอนประมูลคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน( PPP Net Cost) ครม.อนุมัติแล้วอยูอยู่ในขั้นตอนประมูลคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน

มอเตอร์เวย์ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตกช่วงบางบัวทอง-บางปะอินใน ส่วนของงานโยธา ระยะทาง 34.1 กม. มูลค่า 15,862 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 967.4 ล้านบาท อยู่ระหว่างนำเสนอครม. เพื่อขออนุมัติโครงการกำหนดเปิดให้บริการปี 73

มอเตอร์เวย์ M9 เชื่อมวงแหวนตะวันตก-ตะวันออก มูลค่า 4,101 ล้านบาทตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 250.50 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมี โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อมมอเตอร์เวย์ M6 -ทล. 32 มูลค่าทั้งโครงการ 5,495 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 275 ล้านบาท อยู่ระหว่างนำเสนอครม. เพื่อขออนุมัติโครงการกำหนดเปิดให้บริการปี 72 และ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางยกระดับบนทล. 338 มูลค่าทางโครงการ 25,690 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 5,138 ล้านบาท

ด้านขนส่งทางบก มี 1 โครงการ ของขสมก. คือการจัดหารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) จำนวน 1,520 คัน มูลค่า 15,355.60 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบ ปี 68 จำนวน 368.4 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของทีโออาร์ เพื่อนำเสนอครม. ขอความเห็นชอบและเข้าสู่กระบวนการประมูลในช่วงเดือนมี.ค. 68. กำหนดรับมอบรถ3 งวด โดยงวดแรก เดือนต.ค. 68 จำนวน 500 คัน งวด2 เดือน พ.ย. 68 จำนวน 500 คัน งวด3 เดือน ธ.ค. 68 จำนวน 520 คัน

ส่วนขนส่งทางอากาศ 1 โครงการ คือ ก่อสร้างต่อความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินชุมพร มูลค่า1,500 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายปี ปี 68 จำนวน 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการจัดหารถสินค้าบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (บทต.) พร้อมอะไหล่ จำนวน 946 คัน มูลค่า 2,460 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอครม. เพื่อดำเนินการจะซื้อจะจ้างโดยคาดว่าจะได้รับมอบรถในปี 71 และโครงการ ออกแบบผลิตรถไฟต้นแบบโดยเทคโนโลยีต่างประเทศ มูลค่า 2,270.40 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 113 ล้านบาท และมีรถไฟสายใหม่ เชื่อม 2 สนามบินฝั่งอันดามัน MR 9 ช่วงท่านุ่น -ท่าอากาศยานภูเก็ต มูลค่า 14,712 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่าย งบปี 68 จำนวน 17.67 ล้านบาท ,รถไฟสายใหม่ เชื่อม 2 สนามบินฝั่งอันดามัน MR9 ช่วง ทับปุด-กระบี่ มูลค่า 17,201 ล้านบาท ตั้งเบิกจ่ายงบปี 68 จำนวน 22.70 ล้านบาท

การลงทุนรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอสภาพัฒน์ฯ​พิจารณา ก่อนเสนอครม. ซึ่งคณะอนุกรรมการสภาพัฒน์ฯมีข้อคิดเห็นหลายประเด็น ทั้ง ความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการระยะแรก ที่พบว่า ทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ล่าช้าถึง 5 ปี ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ยังอยู่ระหว่างปรับแบบ ประเมินความ ล่าช้าถึง 8 ปี อีกทั้งและช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ พบล่าช้า 4 ปี ส่วนการใช้ประโยชน์ทางคู่ ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ โดย ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ใช้งานเพียง 48.8% ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ใช้งานที่ 75.6% เท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ยังไม่จูงใจให้เอกชนเปลี่ยนมาขนส่งทางราง

ดังนั้น คมนาคมและรฟท.ควรพิจารณาปรับกรอบแนวคิดการพัฒนาทางคู่ที่ใช้ Infrastrcture-Led Development เป็น Market-Leg Development และพิจารณาการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน บริหารCY และถึงมีแผนการซ่อมบำรุง รวมไปถึงแผนด้านการตลาด เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่าและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานเต็มประสิทธิภาพ

ที่มา - mgronline

news-20241128-03

'ttb' ชี้ต้นทุนขนส่งไทย ลดลงต่อเนื่อง คาดปีนี้เหลือ 12.8% อานิสงส์ ระบบรางเพิ่มความสามารถแข่งขัน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีปี 2567 เหลือ 13.6% จากระยะทางของรถไฟทางคู่ที่เพิ่มขึ้น 18.5% ส่งผลให้ทิศทางการเปลี่ยนโหมดขนส่งจากรถสู่รางซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าเกือบ 3 เท่า มีความชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ คาดปี 2568 ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของไทยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแตะระดับ 12.8% ตามแผนพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ แนะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีในอัตราเร่ง

สถานการณ์ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีไทยปี 2566 จากการเปิดเผยของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่า ไทยมีต้นทุนค่าขนส่งต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 14.1% ขยับตัวขึ้นต่อเนื่องจากที่สูงอยู่แล้วในปี 2565 ที่ระดับ 14.0% โดยถึงแม้ในเชิงรายละเอียดต้นทุนการขนส่งทางบกจะปรับลดลงตามดัชนีขนส่งสินค้า (Shipment Index) และราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลงจากปีก่อนหน้า แต่ต้นทุนในการขนส่งไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ที่มีสัดส่วนเกือบ 10% ของต้นทุนการขนส่งรวม กลับปรับเพิ่มถึง 31.7% จากทิศทางธุรกิจ e-Commerce ที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจากกระแส Live Commerce ซึ่งสถานการณ์ที่ตัวเลขต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีที่ปรับเพิ่มย่อมเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับภาครัฐในการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติที่ในปัจจุบันไทยก็มีข้อเสียเปรียบในหลากหลายมิติ

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น เหตุที่ไทยต้องให้ความสนใจกับต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี เนื่องด้วยต้นทุนค่าขนส่งเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตอาจลดทอนกำไรของผู้ขายหรือส่งผลให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การที่ต้นทุนโลจิสติกส์มีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) จึงเปรียบเสมือนสัดส่วนของรายได้บางส่วนต้องถูกนำไปเพื่อการขนส่ง ซึ่งจากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าไทยมีต้นทุนขนส่งต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 5 ปีติดต่อกันจากระดับ 13.3% ในปี 2562 จนถึงระดับ 14.1% ในปี 2566 จึงเป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกและเอเชียแปซิฟิกในปี 2564 ที่มีสัดส่วนที่ 10.8% และ 12.9% ตามลำดับ ขณะที่ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนที่ 8.7% และประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ มาเลเซีย มีสัดส่วนที่ 13% แสดงให้เห็นถึงความเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภาวะการค้าโลกมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเพื่อการจัดส่งและบริหารจัดการสินค้าที่สูงกว่าหลายประเทศโดยเปรียบเทียบ

ที่มา - matichon

news-20250117-02

'พาณิชย์' จับตาทรัมป์ 2.0 ป่วน 5 สินค้าส่งออกไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ. สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2568 การส่งออกยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญหลักในการผลักดันเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ปริมาณการค้าที่ขยายตัวลดลงจากการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวน

สนค. ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกรายสินค้าด้วยอนุกรมเวลา (Time Series Model) พิจารณาควบคู่กับอัตราการเปลี่ยนแปลงหน่วยย่อยต่อภาพรวม (Contribution to growth) และสถานการณ์ที่จะกระทบต่อการค้าในอนาคตพบว่าในปี 2568 มีสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี 10 อันดับ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและ กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ดังนี้


10 สินค้าส่งออกอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ได้แก่

1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน

2. อัญมณีและเครื่องประดับ

3. ผลิตภัณฑ์ยาง

4. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

5. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ

6. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

7. เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์

8. แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า

9. เคมีภัณฑ์

10. แผงวงจรไฟฟ้า

เนื่องจากมีการฟื้นตัวตามวัฎจักร ความเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยี AI อุปกรณ์อัจฉริยะที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และความต้องการของภาคการผลิตที่เร่งตัวก่อนการดำเนินมาตรการทางการค้า


นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการปรับโครงสร้างการผลิตของไทย เช่น Data Center การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น แผ่นเวเฟอร์ (Wafer) หรือแผงวงจรไฟฟ้า (PCB) ยานยนต์ไฟฟ้า

ในปี 2568 ไทยมีกลุ่มสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งไทยและจีนส่งออกไปยังสหรัฐเหมือนกัน และยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 217,233.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 78.8% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด

ที่มา - khaosod

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us