News Update

news-20250117-01

'GDP' จีนโต 5% ตามเป้า แม้เผชิญมรสุมตลอดปี 2024

นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2024 อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลตั้งไว้ แม้จะถูกรุมเร้าด้วยภัยคุกคามจากกำแพงการค้าของสหรัฐ รวมถึงวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ และการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ซบเซาจนฉุดราคาสินค้าดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนประกาศในวันที่ 17 มกราคม 2025 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 4 ปี 2024 ขยายตัว 5.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และทั้งปี 2024 ขยายตัวได้ 5% (YOY) ตรงกับประมาณการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีนในสุนทรพจน์ส่งท้ายปีเก่า ซึ่งเขากล่าวว่าเศรษฐกิจปี 2024 เติบโต “ประมาณ 5%”

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวปกปิดร่องรอยบาดแผลที่ฝังลึกของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากสี จิ้นผิง ปรับรื้อระบบโดยหันมาพึ่งพิงการเติบโตจากภาคการผลิตสินค้าขั้นสูง (High-End) แทนการพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในปัจจุบันความพยายามดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อการเติบโตระยะสั้นอย่างรุนแรง โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีล่าสุดชะลอตัวลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หากไม่นับรวมช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19

แลร์รี่ หู่ (Larry Hu) นักเศรษฐศาสตร์จากแมคควอรี กรุ๊ป (Macquarie Group) กล่าวว่า นับเป็นอีกปีที่ภาคการผลิตและการส่งออกเติบโตอย่างแข็งแรง แต่การบริโภคในประเทศยังคงอ่อนแอ ซึ่งการเติบโตที่สวนทางกันนี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 ปีที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด

นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าจีนจะพยายามรักษาการเติบโตให้มีระดับใกล้เคียงเดิม ซึ่งนับว่าท้าทายอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางการจีนส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินและใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังมากขึ้น ทั้งนี้ หลายฝ่ายยังเป็นกังวลอย่างมาก ว่ามาตรการเยียวยาต่าง ๆ จะเพียงพอต่อการชดเชยผลกระทบจากกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้หรือไม่

จากผลสำรวจของนิกเคอิ เอเชีย นักวิเคราะห์โดยเฉลี่ยคาดว่าจีนจะเติบโตเพิ่ม 4.4% ในปี 2025 และโตเหลือ 4.1% ในปี 2026 ทั้งนี้ คาดว่าทางการจีนจะประกาศเป้าหมายการเติบโตประจำปีอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งต่อไปเดือนมีนาคม

ที่มา - prachachat

news-20250116-03

'คมนาคม' คาดตรุษจีนนี้ผู้โดยสารเดินทางเข้าไทยพุ่ง 4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.4%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 24 ม.ค. - 2 ก.พ.2568 รวม 10 วัน คาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางกว่า 4 ล้านคน โดยในจำนวนดังกล่าว เป็นผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนประมาณ 770,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 22.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะการให้บริการ และด้านความปลอดภัย รวมถึงให้นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการอย่างเต็มที่ รวมทั้งได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในท่าอากาศยาน เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการทุกขั้นตอนทุกจุดบริการของกระบวนการผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ ทอท. บริหารจัดการการดำเนินงานให้เกิดความสมดุลทั้งด้านการบริการให้ผู้มาใช้บริการท่าอากาศยานเกิดความพึงพอใจและประทับใจ และด้านความปลอดภัยของท่าอากาศยาน โดยให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินตามกฎหมายของประเทศ และสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า จากข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้ ทอท. เตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ครอบคลุมทุกมิติในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2568 ที่จะถึงนี้ ทอท. ได้เตรียมพร้อมการอำนวยความสะดวกและการบริการให้ผู้โดยสารในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ให้ได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีในการลดระยะเวลารอคอยในกระบวนการผู้โดยสาร

สำหรับด้านความปลอดภัยของสนามบิน มีการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยาน และปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (Safety Management System) โดยในเขตการบิน (Airside) ทางขับทางวิ่ง ท่าอากาศยานของ ได้จัดวงรอบตรวจทางขับทางวิ่งอย่างสม่ำเสมอตามมาตรฐานสากลที่กำหนด

อีกทั้งยังมีการดำเนินงานป้องกันอันตรายที่เกิดจากสัตว์โดยการสำรวจและประเมินอันตรายจากนกและสัตว์อันตรายในเขต Airside ตลอดจนการสำรวจระบบนิเวศทั้งภายในและโดยรอบสนามบินเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยให้กับเครื่องบินที่ทำการบิน

ทั้งนี้ เมื่อมีการแจ้งเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น พบนก/สัตว์ และรายงานอากาศยานชนนก/ชนสัตว์ เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบพื้นที่ทันที เพื่อเก็บหลักฐานที่จะปรากฏได้ในบริเวณที่เกิดเหตุ จากนั้นจะรายงานตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการตรวจสอบติดตามจาก ICAO มาโดยตลอด

ที่มา - bangkokbiznews

news-20250116-02

จีนเล็งสร้าง' ศูนย์นวัตกรรม-เทคโนโลยี' สำหรับอุปกรณ์ขนส่งทางน้ำ

ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี เดลี รายงานว่า จีนวางแผนสร้างศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับชาติด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์ขนส่งทางน้ำในเมืองท่าสำคัญในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของประเทศ โดยโครงการริเริ่มนี้คาดว่าจะส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมอุปกรณ์ขนส่งทางน้ำ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาภาคการขนส่งของประเทศ

รัฐบาลเทศบาลเมืองหนิงโปและคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งชาติหนิงโป ได้ลงนามความร่วมมือกับสมาคมจำแนกประเภทเรือแห่งประเทศจีน (CCS) เพื่อร่วมกันจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่ผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้งานเข้าด้วยกัน

ตัวแทนสมาคม CCS กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอุปกรณ์ขั้นสูง เสริมสร้างความยืดหยุ่นและความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานอุปกรณ์ขนส่งทางน้ำในจีน รวมถึงให้การสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับการพัฒนาเมืองหนิงโปให้เป็นศูนย์กลางทางทะเล และส่งเสริมการเติบโตที่มีคุณภาพสูงของภาคการผลิต

ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า ทั้งสามฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน การนำความสำเร็จด้านการวิจัยไปประยุกต์ใช้ และการพัฒนาบุคลากรระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมอุปกรณ์ขนส่งทางน้ำ

ความร่วมมือนี้จะตอบสนองความต้องการด้านนวัตกรรมในการสำรวจขั้วโลกใต้ทะเลลึก การขนส่งอัจฉริยะ การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรือเทคโนโลยีขั้นสูง อุปกรณ์วิศวกรรมทางทะเล และวัสดุใหม่สำหรับการใช้งานทางทะเล นอกจากนั้น จะมีการสร้างแพลตฟอร์มทดสอบและตรวจสอบที่ครอบคลุมสำหรับอุปกรณ์ขนส่งทางน้ำภายใต้ข้อตกลงอีกด้วย

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สมาคม CCS ซึ่งดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมของจีน เป็นผู้กำหนดข้อกำหนดและมาตรฐานทางเทคนิคชั้นนำระดับนานาชาติสำหรับเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกนอกชายฝั่ง ตู้คอนเทนเนอร์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการตรวจสอบอิสระในฐานะบุคคลที่สาม

ที่มา - ryt9

news-20250116-01

ไทยเลิกเป็น 'ถังขยะโลก' สั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติก

กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เป้าหมายหลักคือการป้องกันภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและปกป้องสุขภาพของประชาชน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เคยมีใบอนุญาตนำเข้าขยะจะไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่เป็นการนำเข้าภายใต้มาตรา 152 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร ที่อนุญาตการนำเข้าในกรณีเฉพาะ

ที่ผ่านมาขยะพลาสติกถือเป็นของมีค่าสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลและเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งในไทยมีโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยโรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้น การที่ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะในครั้งนี้ นอกจากนั้น จะทำให้ราคาขยะในประเทศมีราคาสูงขึ้น ยังช่วยแรงงานที่เป็นคนเก็บขยะให้มีรายได้เพิ่มอีกด้วย

การห้ามนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์โดยกลุ่มสิ่งแวดล้อมหลายปีของ และเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางหลักสำหรับขยะพลาสติกจากยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น หลังจากที่จีนห้ามการนำเข้าขยะในปี 2561

โดยข้อมูลจากศุลกากรของไทยระบุว่า ระหว่างปี 2561 ถึง 2564 มีการนำเข้าเศษพลาสติกมากกว่า 1.1 ล้านตัน แค่ในปี 2561 ปีเดียว ปริมาณการนำเข้าพุ่งสูงถึง 8 เท่าจาก 69,500 ตัน เป็น 552,912 ตัน โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดมายังประเทศไทย โดยมีการส่งออกประมาณ 50 ล้านกิโลกรัมในปี 2022

นอกจากไทยแล้ว ประเทศที่รับขยะพลาสติกนำเข้าสูงสุด ได้แก่ ตุรกี, อินเดีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, และอินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับขยะพลาสติกนับตั้งแต่ที่จีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี 2561

รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น  และยังมีการจับกุมผู้นำเข้าขยะพลาสติกและโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนมากในระหว่างปี 2561-2562

อย่างไรก็ดี การประกาศห้ามนำขยะพลาสติกประสบปัญหาและเสียงคัดค้านจากผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก ทำให้การดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกล่าช้าออกไป

จนกระทั่งในปี 2564 องค์กรภาคประชาสังคม 72 องค์กรได้ร่วมกันออกแถลงการณ์กระตุ้นให้รัฐบาลไทยเร่งออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกโดยเด็ดขาด และในที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติก โดยจะมีผล 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ Ecological Alert and Recovery - Thailand (EARTH) กล่าวว่า การห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดควรถือเป็นชัยชนะของภาคประชาสังคมในการป้องกันไม่ให้ขยะอันตรายเข้ามาในประเทศไทย

“การเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและการร่วมมือกับทางการอย่างเข้มแข็งจะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าการห้ามดังกล่าวได้รับการบังคับใช้”

นางสาวพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นการห้ามนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดศุลกากร 39.15 เพียงพิกัดเดียว แต่ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสำแดงภายใต้พิกัดศุลกากรอื่น เช่น สำแดงว่าเป็นกระดาษ

ที่มา - bangkokbiznews

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us