News

news-20250124-01

'ส่งออกไทยปี 67' ทุบสถิติโต 5.4% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 10 ล้านล้านบาท

สนค.เปิดตัวเลขส่งออกปี 2567 ทุบสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.4% ขณะที่การส่งออกไทยปี 2568 ตั้งเป้าการส่งออกขยายตัวในกรอบ 2-3% พร้อมจับตานโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบเศรษฐกิจโลก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2567 พบว่ามีมูลค่า 24,765.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (853,305 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 8.7% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 10.4% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2567 ทำมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

โดยการส่งออกมีมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรก หรือขยายตัว 5.4% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 5.4%

ส่วนการนำเข้าเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่า 24,776.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.9% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 10.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ภาพรวมของทั้งปี 2567 การส่งออกมีมูลค่า 300,529.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 306,809.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.3% ทำให้ไทยขาดดุล 6,280.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 8.9 (YOY) ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 10.7 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.7 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 48.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ มาเลเซีย และเกาหลีใต้)

ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 7.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง)

ที่มา - prachachat

news-20250123-03

‘คมนาคม’ เผยตรุษจีนนี้แอร์ไลน์แห่เข้าไทยพุ่ง 19,305 เที่ยวบิน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เทศกาลตรุษจีน เป็นช่วงที่ประชาชนจะเดินทางท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งได้รับรายงานคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินจาก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) พบว่าปริมาณเที่ยวบินช่วงตรุษจีนระหว่างวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2568 (7 วัน) จะมีเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวม 19,305 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,758 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 14%

ในขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศไทย - จีน (7 วัน) รวม 2,718 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 48% โดยเป็นเที่ยวบินที่ทำการบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1,487 เที่ยวบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง 549 เที่ยวบิน ท่าอากาศยานภูเก็ต 520 เที่ยวบิน และท่าอากาศยานเชียงใหม่ 155 เที่ยวบิน จึงได้กำชับให้วิทยุการบินฯ เตรียมพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเดินทางมาประเทศไทย

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เที่ยวบินระหว่างประเทศไทย – จีน เป็นเที่ยวบินที่มีสัดส่วนสูงสุด จากปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด โดยตั้งแต่ต้นปี 2568 นี้ เที่ยวบินจีนเฉลี่ย 269 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินจากประเทศอื่นที่มีนักท่องเที่ยวเชื้อสายจีน เช่น สิงคโปร์ 99 เที่ยวบินต่อวัน มาเลเซีย 92 เที่ยวบินต่อวัน ฮ่องกง 75 เที่ยวบินต่อวัน ไต้หวัน 52 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งอยู่ในประเทศ 10 อันดับแรกที่มีเที่ยวบินมายังประเทศไทยมากที่สุด

ที่มา - bangkokbiznews

news-20250123-02

'ADB' อัดฉีด 350 ล้านดอลลาร์ หนุนโลจิสติกส์อินเดีย ก้าวสู่ศูนย์กลางการค้าโลก

การขนส่งและโลจิสติกส์เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจในทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางการค้าโลก ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้อนุมัติเงินกู้เชิงนโยบายจำนวน 350 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโลจิสติกส์ในระยะที่สองของอินเดีย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงระบบซัพพลายเชน การลดต้นทุน และการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล

ADB เน้นย้ำว่า การปฏิรูปโลจิสติกส์นี้มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงอุปทานแบบห่วงโซ่ของอินเดียผ่านการพัฒนานโยบาย การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระบบโลจิสติกส์ โดยปัจจุบันมูลค่าส่งออกสินค้าของอินเดียได้เพิ่มขึ้นจาก 48.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2000 เป็น 467.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าและบริการรวมให้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ซึ่งการได้รับการสนับสนุนจาก ADB จะช่วยให้อินเดียบรรลุเป้าหมายนี้ผ่านการลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มผลิตภาพ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ระบบโลจิสติกส์ที่พัฒนาอย่างครบวงจร ยังเพิ่มโอกาสการจ้างงานและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก โดยนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น แผนแม่บท PM Gati Shakti ที่เปิดตัวในปี 2021 โดยมุ่งเน้นการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ทั้งถนน รถไฟ สนามบิน และท่าเรือเข้าด้วยกัน พร้อมใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบ GIS-based platform เพื่อวางแผนและติดตามความคืบหน้า โครงการภายใต้แผนนี้ประกอบด้วยการพัฒนาทางหลวงกว่า 200,000 กิโลเมตร

โครงการรถไฟสำหรับขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ และ นโยบายโลจิสติกส์แห่งชาติ (National Logistics Policy) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งลดต้นทุนโลจิสติกส์จาก 13-14% ของ GDP ให้ต่ำกว่า 10% เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก โครงการสำคัญภายใต้นโยบายนี้รวมถึงการพัฒนา Unified Logistics Interface Platform (ULIP) ซึ่งช่วยรวมข้อมูลจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์หลากหลายภาคส่วน และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) เป็นต้น

ข้อคิดเห็นจาก สคต. กรุงนิวเดลี

การเข้ามามีบทบาทของ ADB ในการอนุมัติเงินกู้ในรูปแบบนโยบายจำนวน 350 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนภาคโลจิสติกส์ของอินเดียเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการส่งออกของประเทศอินเดีย และเงินทุนดังกล่าวจะใช้เสริมสร้างการปฏิรูปในระยะที่สอง ภายใต้แผนการปรับปรุงโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมของอินเดีย นั้นจะช่วยส่งเสริมศักยภาพทางภาคโลจิสติกส์ของอินเดียอย่างมีนัยยะ ส่งผลต่อต้นทุนทางการขนส่งที่จะปรับตัวลดลง ความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานในห่วงโช่อุปทานของอินเดียสู่ระดับสูง รวมทั้งทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียใต้และรวมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โครงการทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมาร์-ไทย

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของอินเดียในการเชื่อมโยงมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกกับมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก “ไทย” ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางมีศักยภาพที่จะเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคและขยายความร่วมมือด้านโลจิสติกส์กับอินเดีย การปรับปรุงโลจิสติกส์ของอินเดียจะสามารถช่วยให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดในเอเชียใต้ได้ง่ายขึ้น และเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกด้วย

ที่มา - ditp

news-20250122-01

คมนาคมส่งมอบ 'สนามบินตาก' ให้กรมฝนหลวงฯ ใช้เป็นฐานบัญชาการแก้มลพิษ - อุบัติภัย

วันนี้ (22 ม.ค.) นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม จะร่วมพิธีส่งมอบ - รับมอบความรับผิดชอบการบริหารท่าอากาศยานตาก จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  ที่ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 เห็นชอบให้ ทย.มอบความรับผิดชอบการบริหารท่าอากาศยานตากให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตามความประสงค์ของกรมฝนหลวงฯ ที่จะใช้เป็นศูนย์ฝนหลวงภาคเหนือ และเป็นฐานบัญชาการในการทำภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวงและการบินเกษตรทั้งระบบ เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วย

ขณะนี้ท่าอากาศยานตาก ไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ และที่ผ่านมา กรมฝนหลวงฯ จะใช้พื้นที่สำหรับปฏิบัติภารกิจฝนหลวงเป็นประจำอยู่แล้ว จึงเป็นสนามบินที่แทบจะไม่สร้างรายได้ให้ท่าอากาศยานตาก และ ทย. เลย ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ที่ท่าอากาศยานตาก 3 ราย จะไปปฏิบัติงานท่าอากาศยานอื่นๆ ที่ใกล้เคียงแทน 

สำหรับการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าบริหารจัดการท่าอากาศยานของ ทย. ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่, บุรีรัมย์ และอุดรธานี นั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.

ปัจจุบัน ทย. มีท่าอากาศยานอยู่ภายใต้การกำกับดูแล 29 แห่ง ทำให้ลดเหลือ 28 แห่ง การมอบสนามบินตากให้กรมฝนหลวงฯ จะทำให้การพัฒนาหรือการดำเนินงานทุกด้านคล่องตัวมากขึ้น ไม่ติดข้อจำกัดทางระบบราชการเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งภายใน 10 ปีนี้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายโอนท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่งให้ ทอท.บริหารแทน ทย. มีหน้าที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสนามบินเท่านั้น

ที่มา - dailynews

Facebook Pagelike Widget

The most efficient online logistics media in Thailand.

Contact Info

Follow Us