วิสัยทัศน์จาก "สุทธิพงษ์ คงพูล" ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งจำนวนการขึ้นทะเบียนผู้บังคับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยมีโดรนที่ขึ้นทะเบียนในระบบของ กพท. ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 คาดการณ์ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 จะมีถึง 130,000 ราย และคาดว่าในระยะ 10 ปีข้างหน้าจะมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านลำ
ขณะที่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรมมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการใช้โดรนในทางวิศวกรรม เพื่อการสำรวจและการทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ การใช้โดรนในทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ การถ่ายภาพมุมสูง การใช้โดรนในการเกษตรกรรม การกู้ภัยและรักษาความปลอดภัย
และล่าสุดกับ “โดรนขนส่ง” ที่เริ่มมีให้เห็นในหลายประเทศและไทยเราตอนนี้ หน่วยงานภาครัฐได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.การใช้งานโดรนเพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์แล้ว และเตรียมเสนอร่างให้พิจารณาต่อไป
จากความสำคัญดังกล่าว กพท. จึงเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแล และส่งเสริมให้การใช้โดรนดำเนินการไปทิศทางที่ถูกต้อง ให้คำแนะนำและชี้แนะผู้ที่สนใจขึ้นทะเบียน ล่าสุดยังได้จับมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดทำแผนแม่บท หรือ Drone Master Plan ให้ออกมาเป็น Roadmap สำหรับประเทศไทย ที่มีรายละเอียดครบทุกมิติ
ทั้งในด้านนโยบาย กฎหมาย การพัฒนาบุคลากร การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย ความมั่นคง และการป้องกันสิทธิส่วนบุคคล เป็นต้น
สำหรับแนวทางการกำกับดูแลการใช้งานโดรนนั้น เนื่องจากการใช้โดรนต้องอยู่ร่วมกับอากาศยานที่มีคนขับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ทั้งผลกระทบตัวกฎหมายในปัจจุบัน มาตรฐานอากาศยานจริงในห้วงอากาศ เรื่องความปลอดภัยหากมีการใช้งานโดรนอย่างแพร่หลายทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางเสียงและเทคโนโลยีที่นำมาใช้มีความปลอดภัยขนาดไหน
อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลโดรนใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก คือ พิจารณาจาก 3 ประเภทหลักคือ 1. ความเสี่ยงต่ำ กลุ่มบันเทิง 2. เสี่ยงปานกลาง กลุ่มธุรกิจและ 3. ความเสี่ยงสูง เป็นโดรนที่มีขนาดเท่าเครื่องบินจริงและมีการขนผู้โดยสาร
ดังนั้น การกำกับดูแลจึงไม่สามารถใช้วิธีการกำกับดูแลแบบเดียวได้ ต้องขึ้นอยู่ประเภทความเสี่ยงส่วนความรับผิดชอบ แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่มา - bangkokbiznews