“ท่าเรือกรุงเทพ” หรือท่าเรือคลองเตย 1 ในโครงการสำคัญของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ถือเป็นท่าเรือที่มีสำคัญต่อการขนส่งสินค้าทางน้ำเป็นอย่างมาก
กทท.มีแผนศึกษานำพื้นที่ท่าเรือแห่งนี้ จำนวน 2,353 ไร่ แต่ขณะนี้กลับพบว่าผลการศึกษาในปี 2562 ไม่มีการอัพเดทให้เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องมาทบทวนแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้มีความคุ้มค่าอีกครั้ง
ตามแผนโครงการฯนี้จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มรายได้ให้กับองค์กรในระยะยาว ในรูปแบบการประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
จากโครงการดังกล่าว ยังคงเป็น 1 ในนโยบายเรือธงของกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้เร่งรัดกทท.เดินหน้าบิ๊กโปรเจ็กต์นี้โดยเร็ว
หลังจากที่กระทรวงคมนาคมมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ที่มีนางมนพร เจริญศรี เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาพื้นที่นำร่องที่สามารถพัฒนาหน้าท่าเรือ จำนวน 800 ไร่ แบ่งเป็น
ระยะที่ 1กลุ่มพื้นที่ C1 พื้นที่ 500ไร่ และ C2 พื้นที่ 217 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันเป็นพื้นที่ของกทท. ส่วนใหญ่เป็นลานและอาคารเก่า เช่น ตู้สินค้าที่ตกค้างจากศุลกากร เป็นต้น ซึ่งไม่มีสัญญาเช่าหรือสัญญาสัมปทานผูกพันกับหน่วยงานหรือเอกชนรายใด ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน
ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมีมติมอบหมายให้กทท. ศึกษา Business Model การพัฒนาพื้นที่หน้าท่าเรือดังกล่าว ภายในระยะเวลา 6 เดือน เบื้องต้นคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.ได้อนุมัติจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาฯ วงเงิน 20 ล้านบาท คาดว่าจะได้บริษัทที่ปรึกษาและเริ่มงานได้ภายในเดือนม.ค. 2568
พื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ตอบโจทย์และมีศักยภาพที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นได้ทั้ง ท่าเรือท่องเที่ยว Cruise Terminal โครงการ Mixed-Use Building Complex ศูนย์การค้า หรือ ช้อปปิ้งมอลล์ รวมถึงโรงแรม ฯลฯ ซึ่งหลักการพัฒนากิจกรรมควรมีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
สำหรับแผนการพัฒนาท่าเรือคลองเตย แบ่งเป็น 3 โซน ดังนี้ โซน 1 พัฒนาพื้นที่ด้านการค้า (commercial zone) จะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี พื้นที่ 17 ไร่ ด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วย สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีกและธนาคาร
ที่มา - thansettakij