การเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 ของนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีกำหนดการพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนชั้นนำใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการขนส่ง ได้แก่ บริษัท DP World เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก ที่ประกอบกิจการด้านการท่าเรือและอาคารผู้โดยสารต่าง ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีการให้บริการด้านการเดินเรือทะเล และโลจิสติกส์ ที่มีสาขาธุรกิจทั่วโลกมากกว่า 500 แห่งใน 75 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 1 แสนคน
เพื่อหาโอกาสการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงให้ไทยเป็นโลจิสติกส์ฮับ และศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคนี้ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพในด้านโลจิสติกส์ เพราะอยู่ระหว่าง 2 คาบมหาสมุทร คือมหาสมุทรอินเดีย และอ่าวไทย
ซึ่งกระตุ้นการดำเนินธุรกิจของ บมจ. ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” ย้ำแผนการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทยังเดินตามแผนยุทธศาสตร์ "LEO Go Green" ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างการเติบโตกำไรขั้นต้น และผลประกอบการให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 20-25% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการรับรู้รายได้จากหน่วยธุรกิจใหม่ๆ (New Business Units)เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น
โครงการ Self-Storage และ Wine Storage สาขาพระราม 4 รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่ได้มีการจัดตั้งในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การขนส่งทางรางไปยังประเทศจีน-ลาว ของบริษัท LaneXang Express, การขนส่งสินค้าทางรางภายในประเทศของบริษัท Sritrang LEO Multimodal Logistics, การให้บริการศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้าของบริษัท Advantis LEO และการส่งออกสินค้าทุเรียนไปยังประเทศจีนจากบริษัท LEO Sourcing & Supply Chain
ซึ่งบริษัทดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ ในการเพิ่มรายได้จากธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีสัดส่วนของรายได้มาเป็น 30-35% จากยอดรวมของบริษัทฯ ใน 1-2 ปีข้างหน้า รวมถึงโครงการ JV และ M&A อีกหลายโครงการที่อยู่ในแผนธุรกิจในปี 2568
LEO เชื่อมั่นว่า ปี 2568 รายได้และกำไรขั้นต้นของบริษัทจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาจากการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทยกับจีน รวมทั้งธุรกิจของ Non - Logistics Business จะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดแน่นอน นายเกตติวิทย์ กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในแผนการสำคัญของ LEO ในปี 2568 คือการพัฒนาระบบขนส่งรถไฟจีน - ไทย ด้วยตู้ Reefer Containers ให้เป็นระบบแบบขนส่ง Round Trip มีสินค้าขาไปและขากลับ ระหว่างประเทศจีน - ไทย โดย LEO จะเป็นผู้จัดหาสินค้าส่งออกจากประเทศไทยมายังจีน และทางฝ่ายจีนก็จะช่วยหาสินค้าส่งออกจากประเทศจีนกลับมายังประเทศไทย
โดย LEO มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการ End-to-End Global Logistics Service Provider และเครือข่ายของ LaneXang Express ในประเทศจีนและไทย จะสามารถช่วยยกระดับการให้บริการเข้าสู่มาตรฐานสากล ผลักดันให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างจีน-ไทย ให้ประสบความสำเร็จ และสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งให้กับผู้ส่งออกและนำเข้าทั้งในประเทศไทยและจีน
ที่มา - share2trade