แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปีพ.ศ. 2564-2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021-2030) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในปี 2567 นี้

โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในระดับสาขา เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 222 MtCO2eq หรือ 40% จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573

ซึ่งด้านคมนาคมขนส่ง ถือเป็นสาขาหนึ่งที่ถูกกำหนดอยู่ในแผนในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การเพิ่มประสิทธิภาพยานยนต์

การพัฒนาระบบขนส่งในเมืองและโลจิสติกส์ระหว่างเมือง การส่งเสริมพลังงานทางเลือกในอนาคตสำหรับภาคขนส่ง (Hydrogen, Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF ในอากาศยาน) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

จากแผนดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดงานสัมมนา“Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green”เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

จากวิทยากรในสาขาต่าง ๆ และรับทราบนโยบายจากภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อน ที่จะรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น

ส่งเสริมใช้รถโดยสารไฟฟ้า

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้มีแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกสาขาขนส่ง ปี 2573

มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ 45.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2) หรือคิดเป็นสัดส่วน 24.7% ผ่านการดำเนินงานกว่า 23 โครงการ วงเงินรวม 2.68 ล้านล้านบาท

ที่จะมาผลักดันโครงการเหล่านี้ให้สำเร็จได้ตามแผน ทั้งด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางไฟฟ้าเขตกทม. และปริมณฑล ภายในปีนี้ให้ได้ 3,100 คัน และการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ในปี 2568 อีก 1,520 คัน

รวมถึงการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองของบขส.ในระยะแรกอีก 381 คัน นอกจากนี้ ยังจะผลิตหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้บริการระยะแรก 50 คัน การเพิ่มเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันให้บริการแล้ว 35 ลำ รองรับผู้โดยสาร 150 คน/ลำ รวมถึงการเพิ่ม EV Taxi ในสนามบิน ซึ่งปัจจุบันให้บริการแล้ว 100 คัน

เชื่อมระบบรางกทม.-ปริมณฑล

ขณะที่การพัฒนาระบบขนส่งในเมือง (Urban Mobility) มีโครงข่ายรถไฟฟ้ากทม. และปริมณฑล รวม 554 กิโลเมตร (กม.) โดยเปิดให้บริการแล้ว 7 สาย ระยะทาง 276 กม. ประกอบด้วย

รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีทอง และรถไฟสายสีแดง ซึ่งการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้น ทางกระทรวงคมนาคม กำลังเร่งเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยตั้งเป้าหมายผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทุกสีทุกสาย สามารถเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารราคาเดียวได้ภายในเดือนกันยายน 2568

ที่มา : thansettakij