นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ. สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2568 การส่งออกยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญหลักในการผลักดันเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ปริมาณการค้าที่ขยายตัวลดลงจากการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวน

สนค. ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกรายสินค้าด้วยอนุกรมเวลา (Time Series Model) พิจารณาควบคู่กับอัตราการเปลี่ยนแปลงหน่วยย่อยต่อภาพรวม (Contribution to growth) และสถานการณ์ที่จะกระทบต่อการค้าในอนาคตพบว่าในปี 2568 มีสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี 10 อันดับ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและ กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ดังนี้


10 สินค้าส่งออกอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ได้แก่

1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน

2. อัญมณีและเครื่องประดับ

3. ผลิตภัณฑ์ยาง

4. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

5. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ

6. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

7. เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์

8. แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า

9. เคมีภัณฑ์

10. แผงวงจรไฟฟ้า

เนื่องจากมีการฟื้นตัวตามวัฎจักร ความเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยี AI อุปกรณ์อัจฉริยะที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และความต้องการของภาคการผลิตที่เร่งตัวก่อนการดำเนินมาตรการทางการค้า


นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการปรับโครงสร้างการผลิตของไทย เช่น Data Center การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น แผ่นเวเฟอร์ (Wafer) หรือแผงวงจรไฟฟ้า (PCB) ยานยนต์ไฟฟ้า

ในปี 2568 ไทยมีกลุ่มสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งไทยและจีนส่งออกไปยังสหรัฐเหมือนกัน และยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 217,233.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 78.8% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด

ที่มา - khaosod