กรมการขนส่งทางราง (ขร.) นำโดยนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมฯ พร้อมทีมผู้บริหาร เดินทางสำรวจระบบขนส่งสินค้าทางราง ณ เมือง Łódź ประเทศโปแลนด์ และเมือง Maschen ประเทศเยอรมนี เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมหวังนำแนวปฏิบัติระดับโลกกลับมาประยุกต์ใช้ในไทย เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ไทยให้พร้อมเชื่อมโยงเครือข่าย Belt and Road Initiative (BRI) สู่ยุโรป

ในโปแลนด์ คณะได้เข้าเยี่ยมชม Spedcont Container Terminal ของบริษัท RTSB GmbH ผู้นำด้านการขนส่งทางรางในยุโรป ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างจีน-ยุโรป โดยรับตู้สินค้าถึง 80,000 TEUs ต่อเดือน ครอบคลุมถึง 75% ของเส้นทางรถไฟสายจีน-ยุโรปทั้งหมด ใช้เวลาเพียง 15 วันต่อเที่ยว นับเป็นรูปแบบ Intermodal ที่ผสานการขนส่งหลายรูปแบบเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้น คณะเดินทางต่อไปยัง Maschen Marshalling Yard ในเยอรมนี ซึ่งเป็นย่านจัดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีศักยภาพรองรับขบวนรถได้ถึง 88 ราง รองรับการขนส่งจากท่าเรือ Hamburg คิดเป็น 54% ของสินค้าที่ผ่านเข้าไปยังยุโรปเหนือ และรองรับตู้สินค้าเฉลี่ย 4,000 TEUs ต่อวัน โดยใช้ระบบ “Hump Yard” ซึ่งสามารถจัดเรียงขบวนและแคร่อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการจัดส่งเหลือเพียง 13 วันจากจีนถึงยุโรป

นายพิเชฐ ระบุว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของไทยในการขับเคลื่อนนโยบายลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเล็งเห็นว่าระบบรางเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความเร็ว ความต่อเนื่อง และต้นทุนที่เหมาะสม โดยเฉพาะหากสามารถเชื่อมโยงเส้นทาง “ไทย-ลาว-จีน” เข้ากับเส้นทางสายยุโรปได้อย่างไร้รอยต่อ จะเป็นการเปิดประตูสู่การขยายตลาดใหม่ เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ไทยในระยะยาว

การลงพื้นที่ศึกษาระบบของสองประเทศดังกล่าวยังเป็นจุดเริ่มต้นในการเก็บข้อมูลเพื่อวางยุทธศาสตร์ระยะยาวของระบบขนส่งทางรางไทย ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า การบริหารตู้สินค้า การจัดการคลังและระบบดิจิทัล ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่การค้าโลก และก้าวสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน