ในเดือนพฤษภาคมนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้ทันกับแผนดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ภายในเดือนกันยายน 2568 โดยร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ ก่อนจะรวบรวมความเห็นทั้งหมดเพื่อนำมาปรับปรุงให้เหมาะสม
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ ถือเป็นกฎหมายเร่งด่วนพิเศษ และคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ได้ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม จากนั้นจะรอการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในช่วงวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2568 ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ประสานขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 ซึ่งหากดำเนินการตามกรอบเวลาได้สำเร็จ จะทำให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ถูกใช้งานมาเป็นเวลากว่า 20 ปี และเริ่มไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ส่งผลให้การดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขาดความคล่องตัวในหลายมิติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์กร การใช้ทรัพย์สินให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้จึงถูกเสนอขึ้นเพื่อปรับปรุงข้อจำกัดเดิมที่ขัดขวางการพัฒนากิจการรถไฟฟ้า เช่น การขยายขอบเขตนิยามคำว่า “กิจการรถไฟฟ้า” ให้ครอบคลุมภารกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน การปรับแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจในการใช้ทรัพย์สินเพื่อสร้างรายได้ให้ รฟม. และลดภาระงบประมาณของรัฐ รวมไปถึงการสนับสนุนการให้บริการแบบเชื่อมโยงกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ผ่านระบบตั๋วร่วม
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการแก้ไขข้อจำกัดในเรื่องการบริหารบุคลากรและเงินเดือน ซึ่งเดิมต้องผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการจัดการองค์กร และการปรับเพดานวงเงินที่ต้องเสนอ ครม. อนุมัติให้สอดคล้องกับมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
เป้าหมายของร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ คือการปลดล็อกข้อจำกัดเก่า เพิ่มขีดความสามารถของ รฟม. ให้สามารถบริหารกิจการได้อย่างทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลได้รวดเร็วขึ้น ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการจัดการระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อกันอย่างแท้จริง ทั้งในแง่การบริการประชาชน และการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ
ประชาชนทั่วไป ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีบทบาทสำคัญในการแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อร่วมกันผลักดันให้การขนส่งมวลชนไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารทุกระดับในอนาคตอันใกล้
ที่มา - thansettakij