ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย ตามแรงหนุนท่องเที่ยว ส่งออกที่ลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวต่อ GDP เริ่มลดลง หลังจำนวนเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด
โมเมนตัมการเติบโตของการท่องเที่ยวปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 35.6 ล้านคน มาอยู่ที่ 37.5 ล้านคนในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง
การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทิศทางสินเชื่อที่โตช้าลง ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดๆ ไปในวงเงินงบประมาณอีกราว 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนราว 0.2-0.3% ของ GDP
การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2568 ได้แรงหนุนจากฐานที่ต่ำและการเบิกจ่ายต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2568 โดยกรอบงบลงทุนภาครัฐในปี 2568 เพิ่มขึ้น 7.8% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นราว 2.0% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่คาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 75-80% สูงกว่า 65% ในปี 2567
การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการหดตัวที่เกิดขึ้นในปี 2567 สอดคล้องกับมูลค่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุนในวัสดุอุปกรณ์ (Equipment) ให้เพิ่มขึ้น
การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายการผลิตของจีน หลังจากการเกิดสงครามการค้ารอบแรก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลต่อการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ Data Center ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในการลงทุนการผลิตรถยนต์ EV ในไทย จากภาวะตลาดโลกที่เผชิญภาวะอุปสงค์ลดลง ท่ามกลางอุปทานสูง ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การเข้ามาลงทุนผลิตนถยนต์ EV ในไทยล่าช้าออกไป นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในรายการที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับไทยสูง หรือในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของจีน ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนจริงของนักลงทุนต่างชาติ
เชื่อสงครามการค้ารอบใหม่ ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า สงครามการค้ารอบใหม่จะมีผลสุทธิเป็นลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยประเทศไทย เป็น 1 ใน 15 ประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูงสุด มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ราว 2.5% แม้จะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม
สำหรับความคาดหวังต่อผลบวกจากสงครามการค้ารอบใหม่ ที่จะส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อนิคมอุตสาหกรรม อาคารสำนักงานนั้น ยังคงมีความไม่แน่นอน ต้องรอการวางกลยุทธ์ของซัปพลายเชนต่างๆ และจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย
ผลกระทบทางตรง: การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอลง ซึ่งสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มที่ไทยได้รับอานิงส์จากการเข้ามาลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตของจีนมายังไทยในสงครามการค้ารอบแรก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และยางรถยนต์
ขณะเดียวกันไทยอาจถูกเรียกร้องให้นำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ในกลุ่มที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ น้อยเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากโลก ยิ่งหากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ มีความได้เปรียบในด้านการผลิต และมีการส่งออกไปยังตลาดโลกเป็นอันดับต้นๆ เช่น ปิโตรเลียม อุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนสินค้าที่ไทยยังไม่ได้เปิดตลาดเต็มที่ เช่น สินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เป็นต้น
ผลกระทบทางอ้อม: การแข่งขันกับสินค้าจีน ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นการเข้ามาในไทยของสินค้าจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านราคาอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมจีนที่มีมาก ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น และมีผลกลับมายังภาคผลิตของไทย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก และเสื้อผ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 60% ภาคการผลิตไทยคงจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการไหลเข้ามาของสินค้าจีนในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และขนาดการปรับขึ้นภาษี ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และประเภทสินค้า
นอกจากนี้ภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแรงกว่าคาด เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับ 1 ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย
ที่มา - mgronline