ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขยายเส้นตายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปเป็น 50% ออกไปจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 หลังหารือทางโทรศัพท์กับอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โดยเขาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวระหว่างเดินทางกลับกรุงวอชิงตันว่า “เราได้พูดคุยกันอย่างดี และผมตกลงที่จะเลื่อนการเจรจาออกไป”

ฟอน แดร์ ไลเอิน เองก็โพสต์ข้อความในวันเดียวกันผ่านแพลตฟอร์ม X ว่ายุโรปพร้อมเจรจาอย่างเร่งด่วนและเด็ดขาด โดยย้ำว่า “ข้อตกลงที่ดี ต้องใช้เวลา” พร้อมชี้ว่าช่วงเวลาแห่งความผ่อนปรนนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่การพักชั่วคราวในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าระดับ 10% จะครบ 90 วัน

เดิมที ทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูเป็น 50% ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ โดยให้เหตุผลว่าสหภาพยุโรปดำเนินการเจรจาการค้าล่าช้าและออกกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมกับบริษัทอเมริกัน ซึ่งการขู่ขึ้นภาษีรอบนี้ครอบคลุมมูลค่าการค้าระหว่างสองฝ่ายสูงถึง 321,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐราว 0.6% พร้อมดันราคาสินค้าให้พุ่งขึ้นกว่า 0.3% ตามการวิเคราะห์ของ Bloomberg

แม้สหภาพยุโรปจะพยายามเสนอข้อตกลงใหม่ที่ครอบคลุมทั้งภาษีศุลกากรและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี เช่น กฎระเบียบภายในประเทศ หรือขั้นตอนทางกฎหมายของแต่ละชาติสมาชิก แต่ทรัมป์ยังคงย้ำว่า ปัญหาหลักอยู่ที่ “อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี” และการเจรจากับกลุ่มประเทศแบบสหภาพยุโรปนั้น “ซับซ้อนและล่าช้า”

เจ้าหน้าที่สหรัฐบางราย เช่น ไมเคิล ฟอลเคนเดอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังมองว่าความท้าทายในการเจรจาอยู่ที่การต้องดีลทั้งในระดับกลุ่มประเทศและประเทศรายบุคคล ซึ่งยิ่งทำให้กระบวนการยุ่งยากมากขึ้น

นอกจากการขู่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทั่วไปแล้ว ทรัมป์ยังเคยกล่าวถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสมาร์ตโฟนจากบริษัทอย่าง Apple และ Samsung เพิ่มอีก 25% เพื่อกดดันให้บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตกลับมาสู่สหรัฐ แต่ล่าสุดก็แสดงท่าทีผ่อนปรนมากขึ้น โดยกล่าวเห็นด้วยกับรัฐมนตรีคลังสหรัฐ สก็อตต์ เบสเซนต์ ว่าสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องดึงอุตสาหกรรมสิ่งทอกลับมา เช่น การผลิตรองเท้าผ้าใบหรือเสื้อยืด แต่ควรเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมหลักที่มีศักยภาพสูง อย่างชิปคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ทางทหาร และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

บรรยากาศการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับอียูยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทว่าอย่างน้อยการขยายเส้นตายในครั้งนี้ก็ช่วยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าเจรจาเพื่อหาจุดลงตัว ลดแรงกดดันต่อตลาดโลก และรักษาสมดุลของห่วงโซ่อุปทานในระยะสั้นไว้ได้อีกระยะหนึ่ง

ที่มา - bangkokbiznews