ท่ามกลางความผันผวนของนโยบายการค้าโลก สถานการณ์สงครามภาษีที่สหรัฐฯ จุดชนวนขึ้นอีกครั้งกำลังส่งแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ที่พึ่งพาตลาดส่งออกสหรัฐฯ อย่างมาก ข้อมูลล่าสุดจาก Krungthai COMPASS ชี้ว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง พร้อมความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากสงครามภาษีลุกลามจนส่งผลกระทบเต็มรูปแบบ
การวิเคราะห์แบ่งเป็นสองสถานการณ์หลัก หากไทยเผชิญภาษี Universal Tariff ที่ 10% ในไตรมาส 2 และยังคงมีการยกเว้นบางกลุ่มสินค้า เช่น อิเล็กทรอนิกส์กับเซมิคอนดักเตอร์ เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2% จากเดิมที่คาดไว้ 2.7% แต่หากสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นต้องรับมือกับ Reciprocal Tariff เต็มอัตรา 36% ครอบคลุมสินค้ากลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วน เหล็ก และเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวเหลือเพียง 0.7%
แม้ผลกระทบจะไม่รุนแรงฉับพลันเหมือนวิกฤตโควิด-19 แต่นักวิเคราะห์มองว่าสถานการณ์นี้คือ "ภัยเงียบ" ที่มาในรูปแบบ slow burn คือค่อยๆ ซึมลึกและกัดกร่อนโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง หาก GDP หดตัวต่อเนื่องสองไตรมาสติด ก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคทันที
ภาคการส่งออกกำลังเจ็บหนักจากต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงชะลอการลงทุนเพราะรอดูความแน่นอนของทิศทางตลาด โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ กลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่ามี SMEs ราว 4,990 รายที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบโดยตรง และอาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากอัตราภาษีนำเข้าที่อาจพุ่งจาก 1.7% ไปแตะ 9.3%
กลุ่มที่เจอแรงกระแทกแรงที่สุดคือ ผู้ประกอบการในหมวดชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก และอลูมิเนียมที่อาจโดนภาษีเพิ่มขึ้นอีก 25% และกลุ่มที่โดนภาษีตอบโต้จากฝั่งสหรัฐฯ ในสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และเกษตรแปรรูป ก็ไม่พ้นโดนภาษี 10% ส่วนกลุ่มที่ยังไม่โดนแต่สุ่มเสี่ยงสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และโลหะอื่นๆ ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ เช่น กุ้งแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง และบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งไทยมีมาร์จิ้นกำไรต่ำ อาจเจอกระแสตีกลับอย่างรุนแรง
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คาดการณ์ว่า SMEs ไทยอาจสูญรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 38,300 ล้านบาทภายในปีนี้ ซึ่งตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับช่วงที่เศรษฐกิจไทยถูกล็อกดาวน์จากโควิด-19 แม้รูปแบบของวิกฤตจะต่างกัน แต่ระดับผลกระทบแทบไม่ต่างกัน
ในระยะสั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการป้องกัน ไม่ให้ไทยถูกใช้เป็นฐานหลบภาษีของสินค้าจากประเทศอื่น รวมถึงเร่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการในประเทศรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้าที่เบี่ยงเส้นทางเข้ามา
ในอีกมุมหนึ่ง นักวิเคราะห์กลับมองว่านี่อาจเป็น "โอกาสในวิกฤต" หากไทยใช้จังหวะนี้พลิกปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ยั่งยืนและแข่งขันได้ในระยะยาว ทั้งการยกระดับห่วงโซ่อุปทาน การเพิ่มทักษะแรงงาน การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และการเร่งขยายตลาดการค้าไปยังประเทศที่ยังไม่ถูกรบกวนด้วยข้อพิพาทการค้า
ไทยจะต้องหาจุดยืนที่มั่นคงในเวทีการค้าระดับโลก เดินเกมการทูตเศรษฐกิจให้สมดุล และรักษาความเป็นกลางอย่างชาญฉลาด เพื่อไม่ให้กลายเป็นเพียง “ฐานส่งออกสำรอง” ของชาติอื่นที่ต้องการหลบเลี่ยงกำแพงภาษี
ที่มา - posttoday