4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ตั้งงบประมาณให้กรมท่าอากาศยานไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง ตั้งแต่ 17 กันยายน 2563-13 มิถุนายน 2564 เป็นจำนวน 270 วัน โดยกรมท่าอากาศยานได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทเอกชนที่ปรึกษา

ผลการสำรวจสรุปว่า หากมีการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง มีอัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR : Economics Internal Rate of Return) เท่ากับ 14.70% งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,075 ล้านบาท

ทางบริษัทที่ปรึกษายังได้ศึกษาถึงขั้นตอนการออกแบบขนาด และองค์ประกอบต่าง ๆ ของท่าอากาศยานไว้และออกแบบในเรื่องของลานจอดรถ ทางขับ ทางหยุด ซึ่งมีการออกแบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความก้าวหน้าโดยกรมท่าอากาศยานแจ้งว่า กำลังพิจารณาตอบข้อหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการก่อสร้าง

จี้คมนาคมเร่งรัดก่อสร้าง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทุกภาคส่วนได้ให้ทางจังหวัดพัทลุงทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความอนุเคราะห์สนับสนุนเร่งรัดการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง โดย นางสุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ทั้งหมด 3,424 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา ที่ราบสูง และที่ราบสลับดอน พื้นที่ฝั่งตะวันออกติดทะเลสาบสงขลา มีประชากรทั้งสิ้น 520,455 คน

ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้มาจากภาคบริการ 54.3% โดยพัทลุงมีที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชุมชน สายลุย และสายมู ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวนมาก แต่จังหวัดพัทลุงไม่มีท่าอากาศยาน ซึ่งทุกภาคส่วนมุ่งหวังที่จะให้มีท่าอากาศยานโดยเร็ว มีการตั้ง “พัทลุงทีม” ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ และอำนวยความสะดวก ให้มีท่าอากาศยานพัทลุงขึ้นมาให้ได้

นางสุพัชรีกล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมกับผู้แทนกลุ่มท่าอากาศยาน มีมติเห็นชอบให้เลือกสถานที่ “ศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดพัทลุง” ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ มีเนื้อที่ 1,496 ไร่ เป็นสถานที่ที่จะใช้ในการก่อสร้าง โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดินจากประชาชน บริเวณดังกล่าวอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่เหมาะสมจะนำมาสร้างเป็นท่าอากาศยานพัทลุง และให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง เป็นพื้นที่ทดแทนให้กับศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ในพื้นที่ประมาณ 510 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุเช่นกัน

ด้าน นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หากมีท่าอากาศยานพัทลุง จะทำให้จังหวัดพัทลุงยกระดับจากเมืองรอง เป็นเมืองหลัก เป็นศูนย์กลางการขนส่ง และจะเป็นเมืองที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม ความมั่นคงทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปี 2565 ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง ทั้งเรื่องของรูปแบบด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่ตั้ง พบว่ามีความเหมาะสมในทุกมิติ สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ และเป็นพื้นที่ที่ไม่มีท่าอากาศยานพาณิชย์ ที่ตั้งอยู่ในระยะการเดินทางทางถนนไม่เกิน 90 นาที

ที่มา - prachachat