ประเทศไทยเดินหน้าเต็มสูบ ปั้น “ท่าเรือระนอง” ให้กลายเป็นประตูการค้าใหม่ เชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียและอ่าวเบงกอลอย่างไร้รอยต่อ โดยล่าสุด กระทรวงคมนาคมนำโดยนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ พร้อมลงนาม MOU เพื่อยกระดับศักยภาพด้านโลจิสติกส์ทะเลของไทยและเสริมบทบาทในเวที BIMSTEC อย่างเป็นทางการ

จุดแข็งของท่าเรือระนองคือที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ริมฝั่งอันดามัน ซึ่งสามารถขนส่งสินค้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ได้โดยไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา นับเป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการร่นระยะเวลาขนส่งจากเดิม 7–15 วัน เหลือเพียง 3–5 วันเท่านั้น ความร่วมมือครั้งนี้ยังมุ่งแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และผลักดันบทบาทภาคเอกชนในการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์แบบบูรณาการทั้งทางถนน ราง และอากาศ

กระทรวงคมนาคมยังมีแผนผลักดันเชิงลึก ด้วยการปรับปรุงระบบคลังสินค้า ท่าเทียบเรือ และการจัดหาเครื่องมือขนถ่ายสินค้าเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งวางแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ และปรับกระบวนการพิธีการศุลกากรให้มีความรวดเร็วและโปร่งใส ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการลดต้นทุนและระยะเวลาขนส่งสินค้า

ในมิติของความร่วมมือระหว่างประเทศ นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เผยว่า การลงนาม MOU กับท่าเรือจิตตะกองตั้งแต่ปี 2564 เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กำลังจะถูกต่อยอดสู่ความร่วมมือในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการทำตลาดร่วมกัน Road Show และ Business Matching เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนทั้งในไทยและบังกลาเทศหันมาใช้เส้นทางเดินเรือสายใหม่นี้

ทิศทางต่อจากนี้คือการบูรณาการเชิงนโยบาย เช่น การจัดทำ FTA ไทย-บังกลาเทศ ซึ่งจะปลดล็อกภาษีศุลกากร เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย เช่น อาหารทะเล แร่ดินขาว และสินค้าเกษตร ขณะเดียวกัน ท่าเรือระนองจะกลายเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการยกระดับไทยสู่การเป็นฮับการขนส่งทางทะเลฝั่งอันดามันที่แข็งแกร่ง เชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน เอเชียใต้ และมหาสมุทรอินเดียในระยะยาว

ที่มา - mgronline