มาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายตัวแทนนายหน้า บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดโลจิสติกส์และคลังสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เติบโตสูงจากแรงผลักดันทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา อุปทานรวมเพิ่มขึ้น 8.9% ครึ่งปีต่อครึ่งปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (BMR) และเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด อัตราการครอบครองอยู่ที่ 85% สะท้อนถึงความต้องการที่แข็งแกร่งเนื่องจากการดูดซับสุทธิที่สูงถึง 458,224 ตร.ม.

เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และอิเล็กทรอนิกส์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุปสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการในการจัดส่งแบบ Last-Mile ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยานยนต์มีความต้องการพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้น ได้รับแรงหนุนจากการขยายฐานการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับหลักการด้านความยั่งยืนทั่วโลก

ขณะที่การขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น 15.9% ปีต่อปี เนื่องจากเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์การแพทย์ ในขณะที่การขนส่งทางบกก็มีส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมลอจิสติกส์ โดยได้แรงหนุนจากการค้าข้ามพรมแดนกับจีนและมาเลเซีย การขนส่งทางรถไฟเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 51.3% ปีต่อปี บ่งชี้ถึงศักยภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้าในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ในส่วนของอุปทานในอนาคตโดยเฉพาะในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องในศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกำลังให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับอัตราการดูดซับของตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงระยะเวลาที่มีพื้นที่ว่าง อัตราค่าเช่ายังคงที่ที่ 158 บาท/ตร.ม. โดย BMR มีอัตราค่าเช่าสูงสุดที่ 230 บาท/ตร.ม. สำหรับอสังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมียม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้านลอจิสติกส์จะยังคงแข่งขันได้ โดยมีความต้องการที่ยั่งยืนจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระบบคลังสินค้าอัตโนมัติและโซลูชันที่ยืดหยุ่น

ปัจจุบันอุปทานรวมของคลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 8.9% ครึ่งปีต่อครึ่งปี แตะระดับ 6.27 ล้านตร.ม.ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อุปทานใหม่คิดเป็น 9% ของอุปทานทั้งหมดที่เพิ่มในช่วงเวลานี้ ได้แรงหนุนจากหลายโครงการ ส่วนใหญ่ในชลบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี พร้อมกับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่

โดยเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงถือครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด เพิ่มขึ้น 9.9% จากครึ่งปีก่อน แตะระดับ 2.8 ล้านตร.ม. คิดเป็น 45% ของอุปทานคลังสินค้าทั้งหมด โดย 41% อยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ อีสเทิร์นซีบอร์ดครองส่วนแบ่งเป็นอันดับสอง มีพื้นที่ 2.4 ล้านตร.ม. คิดเป็น 38% ของอุปทานคลังสินค้าโดยรวม

ที่มา - bangkokbiznews