ข้อมูลจากรายงานของนักลงทุน ชี้ว่า ยอดส่งออกทุเรียนของเวียดนามในปีที่แล้ว ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 7.8 เท่า คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของมูลค่าการขนส่งผลไม้และผักทั้งหมด ความสำเร็จนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในประเทศจีน เพราะคนจีนไม่ได้กินแค่ทุเรียนสดเท่านั้น แต่ยังชอบกินผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากทุเรียนด้วย เช่น ทุเรียนอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็ง รวมถึงเมนูของหวาน

ในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว จีนนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 1.53 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 238,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% จากปีก่อนหน้า ซึ่งในจำนวนนี้ เวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นสัดส่วนถึง 47% ตามหลังประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำในการส่งออกทุเรียน มาแบบติดๆ

สำหรับทุเรียนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในกลุ่มชนชั้นกลางของจีน โดยมีผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มากมาย เช่น สุกี้ทุเรียน ชาบูทุเรียน บุฟเฟต์ทุเรียน ซึ่งเวียดนามได้ประโยชน์จากความนิยมตรงนี้ โดยพยายามรักษาการผลิตที่มีคุณภาพสูงตลอดทั้งปีเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดระดับพรีเมียม ขณะที่อินโดนีเซียพยายามจะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ แต่ยอดการส่งออกทุเรียนของอินโดนีเซียในปี 2023 มีมูลค่าเพียง 36 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าผลงานของเวียดนามค่อนข้างมาก

สำนักข่าว CNBC ระบุว่า ความสำเร็จของเวียดนามในการส่งออกทุเรียน เกิดจากกลยุทธ์ที่ครอบคลุม ทั้งการปรับปรุงคุณภาพ นวัตกรรมเทคโนโลยี และการขยายตลาดต่างประเทศ เวียดนามใช้ประโยชน์จากพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 9 แสนไร่ โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงแ ละพื้นที่สูง เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้อยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ยังมีการทำข้อตกลงการค้าเชิงยุทธศาสตร์กับจีน ผ่านการส่งออกในปี 2022 ซึ่งยิ่งทำให้สถานะของเวียดนามในการส่งออกทุเรียนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่เข้มงวด มีการตรวจสอบย้อนถึงต้นกำเนิดของอาหารได้ และการนำเทคโนโลยีการแช่แข็งสมัยใหม่มาใช้

เรื่องราวความสำเร็จของทุเรียนเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าการวางแผนเชิงกลยุทธ์สามารถเปลี่ยนให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในท้องถิ่นกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงระดับโลกได้

ที่มา - pptvhd36