พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เพื่อติดตามการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมโดรน ภายในพื้นที่ UAV Regulatory Sandbox ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ทดสอบจริงสำหรับเทคโนโลยีโดรน ทั้งด้านการขนส่ง ระบบการควบคุม และความปลอดภัย

ในขณะเดียวกัน CAAT ยังเร่งขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศ โดยอยู่ระหว่างจัดทำ Drone Master Plan และ Roadmap ที่ครอบคลุมทั้งมิติด้านกฎหมาย นโยบาย การพัฒนาบุคลากร การจัดโครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคง ปูทางไปสู่การใช้โดรนอย่างแพร่หลายในอนาคต ซึ่งในปี 2568 นี้ ไทยตั้งเป้าจะเริ่มทดลองใช้ “โดรนขนส่ง” อย่างเป็นทางการในเขตเมือง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้มีการหารือร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ ไปรษณีย์ไทย วิทยุการบิน และเอกชนด้านโทรคมนาคม เพื่อเตรียมวางระบบและแผนการดำเนินงานให้พร้อมสำหรับการขออนุญาตเชิงพาณิชย์ในอนาคต

ภายในงาน ยังมีการสาธิตการใช้งานจริงของโดรนขนส่งโดยบริษัทเอกชน พร้อมแสดงระบบบริหารจัดการจราจรทางอากาศสำหรับโดรน (UTM) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมการบินให้เป็นไปอย่างปลอดภัยแม้อยู่ในเขตห้วงอากาศควบคุม การเตรียมความพร้อมเช่นนี้ สะท้อนว่าไทยไม่ได้เพียงแค่ติดตามเทคโนโลยีระดับโลก แต่กำลังลงมือปูรากฐานเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขนส่งไปอีกขั้น

แม้การขนส่งด้วยโดรนจะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ข้อดีของมันกำลังฉายแววเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านความรวดเร็ว การเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล และต้นทุนพลังงานที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งแบบดั้งเดิม โดรนไฟฟ้าไม่มีการปล่อยไอเสีย ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และยังสามารถบินตรงข้ามสิ่งกีดขวางหรือเข้าไปในพื้นที่ภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว เป็นการยกระดับความปลอดภัยและความสามารถในการเข้าถึงอย่างแท้จริง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข้อจำกัดก็ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการบรรทุกสินค้าที่ยังจำกัดเฉพาะของชิ้นเล็กน้ำหนักเบา ความเปราะบางต่อสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย รวมไปถึงประเด็นความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งยังต้องอาศัยกฎหมายและระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดเพื่อรองรับการใช้งานในวงกว้าง

แม้ต้นทุนเริ่มต้นในการพัฒนาระบบโดรนจะยังสูง แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าหากมีการใช้งานในระดับประเทศได้จริง ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระบบโลจิสติกส์ภาพรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมสำคัญเริ่มนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานอย่างจริงจัง

ในมุมของผู้ได้รับประโยชน์ ธุรกิจโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซนับเป็นกลุ่มแรกที่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะสามารถลดเวลาส่งสินค้าและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับภาคสาธารณสุขที่สามารถส่งยา เวชภัณฑ์ หรือเครื่องมือฉุกเฉินไปยังพื้นที่ห่างไกลได้อย่างทันท่วงที ขณะที่ภาคเกษตรกรรมก็เริ่มใช้โดรนในการส่งอุปกรณ์หรือเมล็ดพันธุ์เข้าสู่ไร่นาโดยไม่ต้องใช้แรงงานคนมากเท่าเดิม

อุตสาหกรรมอาหารและการบริการ Delivery ก็ได้รับอานิสงส์จากความเร็วของการส่งสินค้าผ่านทางอากาศ เช่นเดียวกับภาคพลังงานและเหมืองแร่ที่สามารถจัดส่งอุปกรณ์ไปยังไซต์งานทุรกันดารได้อย่างสะดวก ในขณะที่ระบบความช่วยเหลือฉุกเฉินก็จะมีเครื่องมือใหม่ในการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยพิบัติได้โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตของเจ้าหน้าที่

สุดท้ายแล้ว เทคโนโลยีโดรนขนส่งกำลังเปลี่ยนโลกของการขนส่งไปอย่างเงียบ ๆ แต่ทรงพลัง และเมื่อประเทศไทยเริ่มทดลองใช้อย่างเป็นระบบในปี 2568 นี้ เราอาจได้เห็นภาพโดรนบินผ่านฟ้าไทย ส่งสินค้าถึงบ้านเราได้ในเวลาไม่กี่นาทีอย่างเป็นเรื่องปกติในอนาคตอันใกล้

ที่มา - it24hrs