นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าวจะเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงยกระดับมาตรฐานของประเทศ เพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีโลกและเตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
การเจรจา FTA ของไทยดำเนินการอย่างเข้มข้นในสมัยที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และจีน และเมื่อพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกและดำเนินต่อเนื่องถึงรัฐบาลปัจจุบัน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยห่างหายจากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีมานาน ซึ่งการลงนามเอฟทีเอเพิ่มจะทำให้ไทยกลับเข้ามาสู่แผนที่โลก โดยรัฐบาลปัจจุบันเร่งเจรจาอีกหลายฉบับ เช่น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ นอกจากนี้ล่าสุดยังได้หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์บาห์เรน เพื่อเร่งเจรจาการค้าเชิงรุกให้ไทยเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารแก่ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งผลักดันการจัดทำ FTA ระหว่างไทยและบาห์เรน
สำหรับการเจรจากับ EU ถือว่ามีประเด็นเจรจาที่ซับซ้อน โดยจะมีการเจรจาอีกครั้งในเดือน มี.ค.2568 ณ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งที่ผ่านมาเจรจาได้ข้อสรุปเรื่องแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ และบทความโปร่งใส เพื่อสร้างความโปร่งใส ด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และจะให้เจรจาจบในปี 2568
ทั้งนี้ ยุโรปถือเป็นตลาดหลักของไทยที่ได้เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับกลุ่มยุโรป คือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2568 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สำหรับ EFTA ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์และลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นประเทศนอกสมาชิก EU เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2565 สรุปการเจรจา 15 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.การอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า
7.การค้าบริการ 8.การลงทุน 9.ทรัพย์สินทางปัญญา 10.การแข่งขัน 11.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมและแรงงาน) 13.ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ 14.ประเด็นกฎหมายและการระงับข้อพิพาท 15.วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม
สำหรับ EFTA มีขนาดเล็กแต่มีเศรษฐกิจระดับชั้นนำของโลก มีศักยภาพสูงด้านการผลิตสินค้าและบริการที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมและการศึกษา รวมทั้งปี 2566 เข้ามาลงทุนในไทยอันดับ 14 จำนวน 20 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,962 ล้านบาท โดยสวิตเซอร์แลนด์เสนอขอรับการลงในไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนขั้นตอนหลังการลงนามจะเปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนก่อนเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะออกกฎหมายรองรับข้อตกลงก่อนให้สัตยาบันคาดว่าใช้เวลารวม 1 ปี
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อตกลงกับ EFTA มีมาตรฐานสูง เช่น ข้อบทด้านการค้าที่ยั่งยืน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยจะยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับสินค้าไทย 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น อาหาร ข้าว ข้าวโพด พร้อมยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมทุกรายการ ขณะที่สินค้าที่เหลือมีการเก็บภาษีแตกต่างกัน บางรายการอาจใช้เวลา 15 ปี ด้านบริการจะมีเรื่องของการท่องเที่ยว การก่อสร้าง โรงพยาบาล, บริการทางการแพทย์, ค้าปลีก, ที่เอฟตา เปิดให้ไทยไปลงทุนได้ ส่วนไทยก็เปิดการลงทุนด้านงานวิจัย เทคโนโลยี เป็นต้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไทยกำลังเข้าขยายตลาดในสหภาพยุโรป เต็มที่ หลังจากลงนามกับ EFTA เหมือนประตูที่จะผ่านไป EU และแม้การส่งออกไปกลุ่ม EFTA เพียง 2% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ถือเป็นประตูที่จะสร้างความสัมพันธ์และการตลาดกับสหภาพยุโรปในอนาคต
ที่มา - bangkokbiznews