ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีปี 2567 เหลือ 13.6% จากระยะทางของรถไฟทางคู่ที่เพิ่มขึ้น 18.5% ส่งผลให้ทิศทางการเปลี่ยนโหมดขนส่งจากรถสู่รางซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าเกือบ 3 เท่า มีความชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ คาดปี 2568 ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของไทยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแตะระดับ 12.8% ตามแผนพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ แนะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีในอัตราเร่ง

สถานการณ์ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีไทยปี 2566 จากการเปิดเผยของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่า ไทยมีต้นทุนค่าขนส่งต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 14.1% ขยับตัวขึ้นต่อเนื่องจากที่สูงอยู่แล้วในปี 2565 ที่ระดับ 14.0% โดยถึงแม้ในเชิงรายละเอียดต้นทุนการขนส่งทางบกจะปรับลดลงตามดัชนีขนส่งสินค้า (Shipment Index) และราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลงจากปีก่อนหน้า แต่ต้นทุนในการขนส่งไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ที่มีสัดส่วนเกือบ 10% ของต้นทุนการขนส่งรวม กลับปรับเพิ่มถึง 31.7% จากทิศทางธุรกิจ e-Commerce ที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจากกระแส Live Commerce ซึ่งสถานการณ์ที่ตัวเลขต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีที่ปรับเพิ่มย่อมเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับภาครัฐในการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติที่ในปัจจุบันไทยก็มีข้อเสียเปรียบในหลากหลายมิติ

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น เหตุที่ไทยต้องให้ความสนใจกับต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี เนื่องด้วยต้นทุนค่าขนส่งเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตอาจลดทอนกำไรของผู้ขายหรือส่งผลให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การที่ต้นทุนโลจิสติกส์มีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) จึงเปรียบเสมือนสัดส่วนของรายได้บางส่วนต้องถูกนำไปเพื่อการขนส่ง ซึ่งจากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าไทยมีต้นทุนขนส่งต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 5 ปีติดต่อกันจากระดับ 13.3% ในปี 2562 จนถึงระดับ 14.1% ในปี 2566 จึงเป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกและเอเชียแปซิฟิกในปี 2564 ที่มีสัดส่วนที่ 10.8% และ 12.9% ตามลำดับ ขณะที่ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนที่ 8.7% และประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ มาเลเซีย มีสัดส่วนที่ 13% แสดงให้เห็นถึงความเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภาวะการค้าโลกมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเพื่อการจัดส่งและบริหารจัดการสินค้าที่สูงกว่าหลายประเทศโดยเปรียบเทียบ

ที่มา - matichon