รถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้ ของ เวียดนาม กำลังจะเปลี่ยนแปลงการขนส่งของประเทศ กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ และยกระดับการเชื่อมโยงของแต่ละประเทศในภูมิภาค โดยเส้นทางรถไฟสายนี้มีระยะทางเกือบ 1,600 กิโลเมตร เชื่อมต่อกรุงฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเวียดนาม กับนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ทางใต้ของประเทศ และด้วยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายนี้ อยู่ที่ประมาณ 58,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้รถไฟสายนี้กลายเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างทั้ง 2 เมืองจาก 33 ชั่วโมง เหลือเพียงต่ำกว่า 8 ชั่วโมง

การก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2578 โดยจะเปิดให้บริการในส่วนที่สำคัญก่อนคือ ฮานอย-วินห์ และ โฮจิมินห์-ญาจาง ซึ่งจะเริ่มเร็วที่สุดในปี 2575 ขณะที่ เงินลงทุนมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลกำลังพยายามหานักลงทุนต่างชาติและสถาบันทางการเงิน เพื่อเป็นพันธมิตรด้านการจัดการค่าใช้จ่ายและนำความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคเข้ามาช่วย

รถไฟความเร็วสูงสายนี้ จะใช้เทคโนโลยีรางคู่ที่ทันสมัยที่ทำให้มีอัตราความเร็วสูงสุด 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะใช้ในรถไฟ 3 ประเภท ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงขนส่งผู้โดยสารในช่วงเวลากลางวัน, รถไฟตู้นอนเพื่อให้บริการผู้โดยสารที่เดินทางในระยะไกลและรถไฟขนส่งสินค้า โดยมุ่งหวังที่จะลดความกดดันของการขนส่งทางถนน ทั้งนี้ การเดินทางจากกรุงฮานอยไปยังนครโฮจิมินห์ที่ใช้เวลาน้อยกว่า 8 ชั่วโมง จะทำให้การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงน่าสนใจ และเป็นทางเลือกแทนการเดินทางด้วยเครื่องบิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงปัจจัยที่ต้องใช้เวลาเปลี่ยนเครื่องบินและกระบวนการการคัดกรองด้านความปลอดภัยต่างๆ อีกทั้งความสามารถทางการขนส่งสินค้าของรถไฟความเร็วสูงยังทำให้มั่นใจว่าจะไม่ได้ให้บริการเพียงการขนส่งผู้โดยสาร แต่ยังช่วยส่งเสริมภาคการค้าของ เวียดนาม ให้เติบโตอีกด้วย

ประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้ ต่อเวียดนาม
รถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้ มีความหมายทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งต่อเวียดนาม โดยค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20% ของ GDP ได้กลายเป็นอุปสรรคต่อความสามารถทางการแข่งขันในการค้าโลกของเวียดนาม

อย่างไรก็ดี รถไฟสายดังกล่าวจะมาช่วยลดค่าใช้จ่ายนี้ ส่งเสริมการขนส่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งจะสร้างประโยชน์ให้อุตสาหกรรมด้านการส่งออกต่างๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเกษตรกรรม พร้อมทั้งยกระดับชื่อเสียงของเวียดนามให้กลายเป็น ‘ศูนย์กลางการผลิตและส่งออก’ ด้วย

นอกจากนี้ รถไฟความเร็วสูงสายนี้ยังมีบทบาทที่สำคัญในโครงข่ายรถไฟสายทรานส์เอเชีย (TAR) ซึ่งเป็นเครือข่ายรถไฟขนส่งสินค้าแบบครบวงจรทั่วยุโรปและเอเชีย มีการเชื่อมต่อทั่วประเทศในเอเชียแบบไร้รอยต่อ เช่น จีน ไทยและเมียนมาสู่เวียดนามและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้จึงจะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

อีกทั้งจากการที่เข้ามาช่วยลดปัญหาคอขวดด้านการค้าและการพัฒนาการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนจะทำให้โครงการนี้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นอย่างมากและสร้างงานจำนวนมากในด้านการก่อสร้าง การดำเนินงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการคาดการณ์ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้ จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเมืองรองที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางรถไฟสายนี้ เช่น ดานัง, เว้ และ ญาจาง ด้วยการพัฒนาการเข้าถึงและทำให้เมืองเหล่านี้มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น

สรุปจากประโยชน์ด้านต่างๆ รถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้ของเวียดนาม ถือว่าเป็นอนาคตของเวียดนาม โดยถูกมองว่าเป็นรากฐานของการทำให้เศรษฐกิจทันสมัย อีกทั้งการที่รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเข้ามาช่วยลดเวลาการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์และยกระดับการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคจะช่วยส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามบนเวทีโลกให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงผลักดันการเติบโตในระยะยาวและมีความยั่งยืน

ที่มา - moneyandbanking