การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2568 สร้างสถิติใหม่ ทำมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 17.8% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 และยังเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 36 เดือนนับตั้งแต่เมษายน 2565 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 28,575.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.2% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าราว 973 ล้านดอลลาร์
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตัวเลขส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม – มีนาคม) รวมแล้วอยู่ที่ 81,532.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.2% ซึ่งถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี และน่าจะช่วยผลักดันจีดีพีไตรมาสแรกให้ขยายตัวเกิน 3% แต่ยังต้องรอการประกาศจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อย่างเป็นทางการอีกครั้ง
สำหรับแนวโน้มเดือนเมษายน นายพิชัยคาดว่าน่าจะยังเป็นบวก แม้จะมีแรงกดดันจากภาษีของสหรัฐฯ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะพลิกกลับมาเป็นลบ ส่วนไตรมาส 2 ยังประเมินไม่ได้ พร้อมกล่าวติดตลกว่า “ถ้าอยากรู้ก็ต้องนั่งไทม์แมชชีนไปดู” และเสริมว่าหากไม่มีปัจจัยลบจาก "ภาษีทรัมป์" ที่กำลังจะกลับมาบังคับใช้ การส่งออกไทยจะไปได้สวยอย่างแน่นอน โดยเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ที่ 2-3% มีแนวโน้มว่าจะทำได้ดีกว่านั้น เพราะตอนตั้งเป้าก็เผื่อไว้ต่ำไว้ก่อน บอกน้อยได้เยอะจะไม่โดนด่า บอกเยอะแต่ได้น้อยจะถูกวิจารณ์
ในประเด็นความสัมพันธ์การค้ากับสหรัฐฯ รัฐมนตรีพาณิชย์เผยว่า ฝ่ายไทยได้ติดต่อกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) อย่างต่อเนื่อง และมี “สัญญาณดีระดับ 5G” โดยเตรียมเจรจาเรื่องการป้องกันการสวมสิทธิ์ในการส่งออก และคัดกรองสินค้าไทยที่จะเข้าร่วมการเจรจาในอนาคต
ขณะที่นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) มองว่าการส่งออกในไตรมาส 2 ยังมีโอกาสขยายตัวต่อ โดยเฉพาะในช่วงก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่สหรัฐฯ เตรียมนำภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการกลับมาใช้ ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแนวโน้มเร่งนำเข้าสินค้าจากไทยในช่วงเมษายนถึงมิถุนายนนี้ เว้นแต่จะสามารถเจรจายุติประเด็นภาษีได้ก่อน
ข้อมูลการส่งออกในเดือนมีนาคมยังเผยให้เห็นว่าตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นถึง 34.3% ขณะที่จีนเพิ่มขึ้น 22.2% ญี่ปุ่น 1.5% และกลุ่มสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 4% ด้านอาเซียนเพิ่มขึ้น 13.2% CLMV เพิ่ม 10.1% ขณะที่ตลาดรองอย่างเอเชียใต้ เพิ่มขึ้น 9.2% ตะวันออกกลาง 25.1% แอฟริกา 3.5% ละตินอเมริกา 11.5% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่มขึ้นแรงถึง 59.5% และตลาดสหราชอาณาจักรเพิ่ม 7.7% ยกเว้นเพียงตลาดออสเตรเลียที่ปรับตัวลดลง 11.4% ส่วนตลาดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตามองถึง 232.6%
แม้ว่าภาพรวมจะดูสดใส แต่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนมีนาคมกลับหดตัว 3.1% ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าเกษตรลดลง 0.5% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรลดลง 5.7% สินค้าที่ยังไปได้ดีคือ ยางพารา ไก่สดและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และผลไม้สดหรือแปรรูป ขณะที่ข้าว มันสำปะหลัง อาหารทะเลแปรรูป และน้ำตาลทรายมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี การส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมยังขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2%
ในทางกลับกัน การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับโดดเด่น เติบโต 23.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยสินค้าเรือธงที่ขยายตัวชัดเจน ได้แก่ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณี แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ และหม้อแปลงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังมีบางกลุ่มที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และเครื่องยนต์สันดาปภายใน
เมื่อดูภาพรวม 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นถึง 19.4% ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ชัดเจนว่าภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง
ที่มา - mgronline