หุ่นยนต์และรางรถไฟกำลังยกระดับการขนส่งในประเทศเวียดนามที่ประสิทธิภาพการขนส่งอยู่ในอันดับท้าย ๆ ในหมู่ชาติที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอาเซียน ในสถานการณ์ที่ต้องรับมือกับอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายห่วงโซ่การผลิตและโรงงานที่ย้ายมาผลิตสินค้าในเวียดนามกันมากขึ้น
นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า หุ่นยนต์และรางรถไฟกำลังปรับโฉมหน้าและพัฒนาระบบขนส่งในเวียดนาม ซึ่งผู้ผลิตหลายรายกำลังขยายซัพพลายเชนและอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะแบรนด์อย่างช้อปปี้ (Shopee) และชีอิน (SHEIN) กำลังได้รับความนิยม
บริษัทเวียตเทล โพสต์ (Viettel Post) ซึ่งทำธุรกิจขนส่งสัญชาติเวียดนาม อวดโดรนส่งของและหุ่นยนต์คัดแยกสินค้าว่า กำลังช่วยยกขีดความสามารถการประมวลผลของบริษัทขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ โดยยกตัวอย่างด่านพรมแดนอัจฉริยะที่ทหารเป็นเจ้าของนั้น วางแผนที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนของรัฐบาลที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมของประเทศ ซึ่งเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโลจิสติกส์เลวร้ายมากที่สุดในอาเซียน
แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานของทางการเวียดนามอาจเร่งการขนส่งสินค้า ตั้งแต่รางรถไฟแห่งใหม่ที่เชื่อมต่อกับจีน ไปจนถึงทางด่วนที่กำลังก่อสร้างเชื่อมระหว่างภาคเหนือและใต้ ซึ่งการขนส่งสินค้าภายในประเทศที่มีความยาว 3,000 กิโลเมตรอาจมีต้นทุนสูงกว่าการขนส่งระหว่างเวียดนามและสิงคโปร์
เวียตเทล โพสต์ระบุอีกว่า ภาคโลจิสติกส์ของเวียดนามยังคงมีข้อจำกัดจำนวนมาก ต้นทุนโลจิสติกส์คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขั้นตอนการคัดแยกสินค้ายังคงใช้มือทำหรือเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ ส่วนการนำระบบอัตโนมัติมาใช้อยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าเทมู (TEMU) และชีอิน (SHEIN) จะเผชิญกับกระแสตอบรับเชิงลบจากการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน แต่ทั้ง 2 บริษัทก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการจับจ่ายซื้อของออนไลน์ที่เรียกร้องให้มีการขนส่งที่ดีขึ้นในเวียดนาม ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความร่วมมือระหว่าง Google, Temasek and Bain ระบุว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ของเวียดนามเติบโตขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2023 ถึงปี 2024
จอห์น แคมป์เบลล์ (John Campbell) หัวหน้าฝ่ายบริการอุตสาหกรรมของซาวิลส์ (Savills) กล่าวว่า สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดเก็บสินค้าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากความต้องการด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น โดยโรงงานต่าง ๆ กำลังย้ายไปยังเวียดนามเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ตัวอย่างเช่น หูฟังสำหรับบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กอย่างเมตา และเลนส์ถ่ายภาพสำหรับบริษัทแทมรอน (Tamron) ของญี่ปุ่น
ที่มา - prachachat