ปัจจุบันโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 13 เส้นทาง ครอบคลุมระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร โดยมีจำนวนสถานีทั้งหมด 160 สถานี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของระบบขนส่งสาธารณะไทยที่กำลังมุ่งสู่การเป็นโครงข่ายหลักของเมืองใหญ่อย่างเต็มรูปแบบ

ในขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง กำลังเร่งศึกษาและวางแผน "M-MAP2" หรือแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มโครงข่ายใยแมงมุมให้สมบูรณ์ เชื่อมต่อทุกเส้นทางเข้าด้วยกัน และรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคต

นอกจากเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว ยังมีโครงการรถไฟฟ้าอีก 5 เส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมระยะทางกว่า 84 กิโลเมตร โดยความคืบหน้าล่าสุด ณ เดือนมีนาคม 2568 พบว่า หลายโครงการมีความก้าวหน้าไปมาก เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ซึ่งมีความก้าวหน้าโดยรวมถึง 94% รวมถึงสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่งานโยธาเสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว เหลือเพียงงานระบบไฟฟ้าและเดินรถที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ ยังมีสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ที่งานโยธาเดินหน้าไปแล้วกว่าครึ่ง และ ARL ช่วงพญาไท – ดอนเมือง ซึ่งรวมอยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา

กรมการขนส่งทางรางได้วางเป้าหมายการพัฒนารถไฟฟ้าอย่างชัดเจนภายในปี 2573 โดยมีแผนทยอยเปิดให้บริการเส้นทางใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 จะมีการเปิดสายสีชมพู ส่วนต่อขยายศรีรัช – เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร เพิ่มเข้ามา ทำให้ระยะทางรวมเป็น 279.84 กิโลเมตร ก่อนจะก้าวกระโดดอีกครั้งในปี 2571 ด้วยการเปิดบริการ 4 เส้นทางใหม่ ได้แก่ สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี, สายสีแดง ช่วงรังสิต – มธ.ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ซึ่งจะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้ามีระยะทางรวมเพิ่มขึ้นเป็น 355.28 กิโลเมตร

ในปี 2572 จะมีการเปิดให้บริการสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ และสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี เพิ่มอีกสองเส้นทาง ทำให้ระยะทางรวมขยับไปที่ 377.38 กิโลเมตร ก่อนจะเข้าสู่หมุดหมายสำคัญในปี 2573 ที่มีแผนเปิดให้บริการเพิ่มอีก 13 เส้นทาง ทั้งสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางขุนนนท์, ARL ช่วงพญาไท – ดอนเมือง, สายสีแดงช่วงบางซื่อ – หัวลำโพงและบางซื่อ – มักกะสัน – หัวหมาก รวมถึงโครงการต่อขยายหลายเส้นทางสำคัญ เช่น สายสีเขียวไปยังบางปูและลำลูกกา, สายน้ำเงินไปพุทธมณฑลสาย 4, และสายสีแดงจากหัวลำโพงไปมหาชัย นอกจากนี้ยังมีเส้นทางใหม่อย่างสายสีเทา ช่วงวัชรพล – ทองหล่อ และช่วงพระโขนง – ท่าพระ, สายสีฟ้าช่วงดินแดง – สาทร รวมถึงการต่อขยายสายสีเหลืองช่วงแยกรัชดา – แยกรัชโยธิน

เมื่อทุกโครงการดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในปี 2573 กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมระยะทางรวมถึง 553.41 กิโลเมตร นับเป็นก้าวสำคัญของระบบขนส่งมวลชนไทย ที่จะช่วยพลิกโฉมการเดินทางในเมืองหลวงและพื้นที่ต่อเนื่องอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในแง่ความสะดวก รวดเร็ว และการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา - bangkokbiznews