กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เป้าหมายหลักคือการป้องกันภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและปกป้องสุขภาพของประชาชน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เคยมีใบอนุญาตนำเข้าขยะจะไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่เป็นการนำเข้าภายใต้มาตรา 152 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร ที่อนุญาตการนำเข้าในกรณีเฉพาะ

ที่ผ่านมาขยะพลาสติกถือเป็นของมีค่าสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลและเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งในไทยมีโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยโรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้น การที่ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะในครั้งนี้ นอกจากนั้น จะทำให้ราคาขยะในประเทศมีราคาสูงขึ้น ยังช่วยแรงงานที่เป็นคนเก็บขยะให้มีรายได้เพิ่มอีกด้วย

การห้ามนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์โดยกลุ่มสิ่งแวดล้อมหลายปีของ และเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางหลักสำหรับขยะพลาสติกจากยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น หลังจากที่จีนห้ามการนำเข้าขยะในปี 2561

โดยข้อมูลจากศุลกากรของไทยระบุว่า ระหว่างปี 2561 ถึง 2564 มีการนำเข้าเศษพลาสติกมากกว่า 1.1 ล้านตัน แค่ในปี 2561 ปีเดียว ปริมาณการนำเข้าพุ่งสูงถึง 8 เท่าจาก 69,500 ตัน เป็น 552,912 ตัน โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดมายังประเทศไทย โดยมีการส่งออกประมาณ 50 ล้านกิโลกรัมในปี 2022

นอกจากไทยแล้ว ประเทศที่รับขยะพลาสติกนำเข้าสูงสุด ได้แก่ ตุรกี, อินเดีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, และอินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับขยะพลาสติกนับตั้งแต่ที่จีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี 2561

รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น  และยังมีการจับกุมผู้นำเข้าขยะพลาสติกและโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนมากในระหว่างปี 2561-2562

อย่างไรก็ดี การประกาศห้ามนำขยะพลาสติกประสบปัญหาและเสียงคัดค้านจากผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก ทำให้การดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกล่าช้าออกไป

จนกระทั่งในปี 2564 องค์กรภาคประชาสังคม 72 องค์กรได้ร่วมกันออกแถลงการณ์กระตุ้นให้รัฐบาลไทยเร่งออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกโดยเด็ดขาด และในที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติก โดยจะมีผล 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ Ecological Alert and Recovery - Thailand (EARTH) กล่าวว่า การห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดควรถือเป็นชัยชนะของภาคประชาสังคมในการป้องกันไม่ให้ขยะอันตรายเข้ามาในประเทศไทย

“การเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและการร่วมมือกับทางการอย่างเข้มแข็งจะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าการห้ามดังกล่าวได้รับการบังคับใช้”

นางสาวพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นการห้ามนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดศุลกากร 39.15 เพียงพิกัดเดียว แต่ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสำแดงภายใต้พิกัดศุลกากรอื่น เช่น สำแดงว่าเป็นกระดาษ

ที่มา - bangkokbiznews