ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนในย่านธุรกิจใจกลางเมือง กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ล่าสุด กระทรวงคมนาคม เตรียมลุยศึกษาแนวทางการจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมรถติด” หรือ Congestion Charge เพื่อลดปริมาณรถยนต์บนถนน และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

คาดจัดเก็บ 40-50 บาท/วัน ในพื้นที่แนวรถไฟฟ้า
รายงานจากกระทรวงฯ ระบุว่า ได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษารายละเอียดของระบบนี้ โดยเป้าหมายคือจัดเก็บค่าธรรมเนียม ประมาณ 40-50 บาท/วัน เฉพาะในพื้นที่ที่มีปริมาณรถหนาแน่นตามแนวรถไฟฟ้า โดยคาดว่าจะเห็นผลการศึกษาเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

การศึกษาจะพิจารณาหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม และระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงเปรียบเทียบกับโมเดลของประเทศที่เคยประสบความสำเร็จ

6 จุดรถติดเป้าหมายแรกของมาตรการ
สนข.ได้ร่วมมือกับองค์กร GIZ (เยอรมัน) สำรวจ 6 เส้นทางวิกฤตรถติดในกรุงเทพฯ ช่วงเวลา 07.00 – 19.00 น. พบว่ามีปริมาณรถเฉลี่ยวันละกว่า 60,000 – 80,000 คัน ได้แก่:

  • แยกเพชรบุรี-ทองหล่อ – 60,112 คัน/วัน
  • แยกสีลม-นราธิวาส – 62,453 คัน/วัน
  • แยกสาทร-นราธิวาส – 83,368 คัน/วัน
  • แยกปทุมวัน – 62,453 คัน/วัน
  • แยกราชประสงค์ – 56,235 คัน/วัน
  • แยกประตูน้ำ – 68,473 คัน/วัน

เทียบ "ลอนดอน-สิงคโปร์" ทำแล้วได้ผล

ลอนดอน (อังกฤษ): เก็บค่าธรรมเนียม 15 ปอนด์/วัน ในเขตศูนย์กลางเมือง จันทร์-ศุกร์ 07.00-18.00 และเสาร์-อาทิตย์ 12.00-18.00 (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

  • ลดปริมาณจราจรได้ 16%
  • ผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18%
  • รายได้ต่อปี 352 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิงคโปร์: เก็บค่าธรรมเนียม 1-6 ดอลลาร์สิงคโปร์/วัน ในเขตศูนย์กลางเมืองและพื้นที่จราจรหนาแน่น จันทร์-เสาร์ 06.00-22.00 (เว้นวันอาทิตย์และวันหยุด)

  • ลดปริมาณจราจรได้ 15%
  • รายได้ต่อปี 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา - thansettakij