สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในไตรมาสแรกของปี 2568 ว่ามีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ดัชนีค่าขนส่งทางถนนในโครงสร้างแยกตามกิจกรรมการผลิต เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.7% โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปรับขึ้นมากที่สุดถึง 3.0% จากการขนส่งสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ปิโตรเลียม และอุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้น 1.1% ขณะที่หมวดเกษตรกรรมและประมงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.3%
เมื่อพิจารณาตามประเภทยานพาหนะ ดัชนีค่าขนส่งทางถนนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.7% โดยรถบรรทุกวัสดุอันตรายมีอัตราการปรับสูงสุด 3.3% รองลงมาคือรถบรรทุกของเหลว รถตู้บรรทุก รถกระบะ และรถพ่วง ขณะที่ค่าขนส่งโดยรถกึ่งพ่วงที่ใช้ขนวัสดุยาวยังคงราคาเฉลี่ยเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ต้นเหตุของค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นยังคงมาจากต้นทุนราคาน้ำมันและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แม้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็สร้างแรงกดดันต่อต้นทุนของผู้ประกอบการขนส่งไม่น้อย อย่างไรก็ตาม สนค. คาดว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ดัชนีค่าขนส่งอาจเริ่มปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากผลของมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้มีมติปรับลดเงินส่งเข้ากองทุน ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงรวม 1 บาทภายในเดือนเมษายน ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่ง
อีกปัจจัยที่น่าจับตาคือการแข่งขันในธุรกิจขนส่งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากจำนวนผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกดดันไม่ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับราคาค่าบริการเพิ่มได้มากนัก แม้ปริมาณความต้องการขนส่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง สินค้าอุตสาหกรรม และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ช่วยหนุนความต้องการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทยและภูมิภาค
แม้ว่าความต้องการขนส่งจะเติบโต แต่คาดว่าค่าบริการโดยรวมจะยังทรงตัวจากปัจจัยต้นทุนที่เริ่มผ่อนคลาย เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ทิศทางดอกเบี้ยที่เริ่มปรับลด และมาตรการสนับสนุนด้านราคาพลังงานจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะยังคงติดตามสถานการณ์ด้านค่าบริการขนส่งอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภค พร้อมเดินหน้าศึกษามาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาค่าขนส่งในระยะยาวต่อไป
ที่มา - banmuang