ตลาดดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศไทย มีมูลค่าตลาดของธุรกิจแพลตฟอร์มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะตลาด e-Commerce มีมูลค่าสูงถึง 21.41 ล้านล้านบาท ซึ่งนำมาพร้อมโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้นและอาชีพใหม่ๆ

กฎหมายกำกับดูแลแพลตฟอร์มฉบับใหม่

ปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มบังคับใช้ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565  เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแลแพลตฟอร์มและคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยมี ETDA เป็นหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มตามขนาดของธุรกิจ ดังนี้

1. บริการแพลตฟอร์มทั่วไป คือผู้ให้บริการ ประเภทบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในประเทศ เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือเป็นนิติบุคคลที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี หรือมีผู้ใช้บริการในประเทศเฉลี่ยต่อเดือน (AMAU) เกินกว่า 5,000 คน

มีหน้าที่ต้องแจ้งรายการข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดต่อ ETDA ก่อนเริ่มธุรกิจ และอัพเดทข้อมูลนั้นทุกปี เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนบนแพลตฟอร์ม

2. บริการแพลตฟอร์มขนาดเล็ก คือกรณีไม่เข้าเงื่อนไขแพลตฟอร์มทั่วไป มีหน้าที่แจ้งข้อมูลแก่ ETDA ก่อนเริ่มธุรกิจเช่นกัน แต่มีรายการข้อมูลน้อยกว่า

3. บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางเสนอสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่คิดค่าบริการการใช้แพลตฟอร์ม และบริการแพลตฟอร์ม Search engine มีหน้าที่เพิ่มเติมต้องแจ้ง Terms and conditions ให้แก่ผู้ใช้บริการทราบก่อนหรือขณะใช้บริการในเรื่องที่กฎหมายกำหนดเป็นอย่างน้อย เช่น เงื่อนไขการคิดค่าบริการ การเข้าถึงและการใช้ข้อมูลที่แพลตฟอร์มได้รับจากการให้บริการ

4. บริการแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงสูง อย่าง

(1) แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีจากการให้บริการแต่ละประเภทในประเทศเกินกว่า 300 ล้านบาท หรือจากการให้บริการทุกประเภทในประเทศรวมกันเกินกว่า 1,000 ล้านบาท หรือเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บริการในประเทศโดยเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

(2) แพลตฟอร์มที่มีลักษณะเฉพาะ และ

(3) แพลตฟอร์มที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

มีหน้าที่เพิ่มเติมต้องประเมินความเสี่ยงและให้มีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น

Cr: bangkokbiznews