ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนมกราคม 2024 ลดลง 0.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งเป็นการลดลงในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 14 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2009 และลดลงติดต่อกันมาแล้ว 4 เดือน อัตราการขยายตัวอยู่ต่ำกว่า 1% มาแล้ว 9 เดือนต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก็หดตัวมาติดต่อกัน 16 เดือน ซึ่งหมายความว่าจีนเผชิญภาวะ “เงินฝืด” แบบยืดเยื้อแล้ว

 

การที่สินค้ามีราคาต่ำลงนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้บริโภค แล้วปัญหาคืออะไร และการที่จีนเผชิญเงินฝืดแบบยืดเยื้อยาวนานนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง ?

·        ปัญหาของภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจคือ ราคาสินค้าที่ถูกลงไม่ได้กระตุ้นการบริโภค เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นว่าสินค้ามีแนวโน้มที่จะราคาต่ำลง ผู้บริโภคก็จะชะลอการซื้อสินค้าและบริการ เพราะคาดการณ์ว่าราคาสินค้าจะลดลงอีกในอนาคต

·        ภาวะเงินฝืดยังส่งผลให้ระดับของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยที่ปรับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อแล้ว) สูงขึ้น เมื่อต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นก็ทำให้ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ลงทุนได้ยากขึ้น ซึ่งจะทำให้ดีมานด์ในระบบเศรษฐกิจลดลง

 

ส่วนผลกระทบของเงินฝืดในจีนต่อเศรษฐกิจโลกจะมีสองด้านเหมือนดาบสองคม คือ

1.      เมื่อผู้ผลิตสินค้าในจีนลดราคาสินค้าลงเพื่อลดอุปทานส่วนเกิน จะเกิดแรงกระเพื่อมไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา และประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและยุโรป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่การทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านั้นลดลง ช่วยลดความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่เผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงมานาน และเป็นการช่วยงานธนาคารกลางในประเทศเหล่านั้นให้ “จบงาน” ได้เร็วขึ้น

2.      แต่อีกคมหนึ่งของดาบคือ อาจจะเพิ่มความตึงเครียดทางการค้าได้ เพราะสินค้าที่ผลิตภายในประเทศหรือในภูมิภาคนั้น ๆ จะถูกสินค้าจีนตัดราคา ซึ่งอาจกระทบรายได้และกำไรของบริษัทต่าง ๆ

Cr: prachachat