นับเป็นอีกความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากคลองเตยโดยเร็ว และให้พิจารณาจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตยของ กทท.

ในส่วนที่ปัจจุบันยังเป็นพื้นที่ว่างหรือเป็นพื้นที่ที่สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาการจราจร ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง รวมถึงพิจารณาให้ครบวงจร ครอบคลุมถึงการย้ายคลังและโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย

 

เรื่องการย้ายชุมชนท่าเรือคลองเตยที่สำคัญแล้ว การนำพื้นที่ท่าเรือคลองเตยมาพัฒนาเชิงพาณิชย์จะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ให้เรียบร้อยก่อน เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การท่าเรือฯ กำหนดให้ที่ดินที่ กทท.ที่ได้มานั้นใช้สำหรับกิจการท่าเรือเท่านั้น ที่ผ่านมาจึงได้มีการดำเนินการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 คู่ขนานไปด้วย โดยล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอีกด้วย

 

ส่วนกรณีให้พิจารณาย้ายคลังน้ำมันและโรงเก็บน้ำมันในพื้นที่ กทท.ออก ก็มีประเด็นต้องพิจารณาคือ พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 เช่นกัน

 

ปัจจุบันพื้นที่ กทท.มีคลังน้ำมันของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR โดยพื้นที่เช่าประกอบด้วย บริเวณคลังพระโขนง-บางจาก สำนักงานเนื้อที่จำนวน 41,344 ตร.ม. และคลังน้ำมัน อาคาร และเขื่อนเทียบเรือบริเวณปากคลองบางจากและปากคลองเจ๊ก เนื้อที่จำนวน 3,500.75 ตารางวา รวมพื้นที่ทั้งหมด 44,844.75 ตารางวา สัญญา เช่าที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นระยะเวลา 15 ปี หรือถึงปี 2579 ซึ่งที่ผ่านมามีการต่อสัญญาเช่ามาตลอดระหว่าง กทท.กับ ปตท. (ก่อนหน้าที่จะปรับเป็น OR) เพราะเป็นความร่วมมือในการใช้พื้นที่การท่าเรือฯ ในการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของผู้บริโภคในเขตภาคกลาง เสริมสร้างความมั่นคง ต่อเนื่องสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนเป็นศูนย์กลางพลังงานของประเทศไทย

 

”รื้อชุมชน” หรือ "ย้ายท่าเรือคลองเตย" จะออกมาในรูปแบบใด สุดท้ายฝ่ายนโยบายต้องมีความชัดเจนก่อนว่าจะยังให้พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีกิจกรรมท่าเรือขนส่งสินค้าอยู่อีกหรือไม่อย่างไร เพราะจะว่าไปแล้วก่อนหน้านี้เมื่อปี 2549 ยุครัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" พรรคไทยรักไทย ก็มีแนวคิดในการย้ายท่าเรือคลองเตยมาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่การย้ายทั้งหมด นำมาซึ่งการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ 2,000 กว่าไร่ แต่ยังไม่ทันได้เริ่มก็เกิดรัฐประหารถูกยึดอำนาจไปเสียก่อน การที่ "เศรษฐา ทวีสิน" จะพูดถึงการย้ายท่าเรือคลองเตยอีกครั้งจึงไม่ใช่ของใหม่อะไร เป็นการย้อนความคิดของอดีตนายกฯ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ภายใต้บริบทสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ต้องดูกันว่าบทสรุปรอบนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการย้ายชุมชนหลายหมื่นหลังคาเรือนและคลังน้ำมัน ไม่ใช่เรื่องง่าย!!!

Cr: mgronline