การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.พ.2567 มีแนวขยายตัว โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออกเดือน ก.พ.2567 มีมูลค่า 23,384 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 3.6% ขายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และกรณีหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ขยายตัว 2.3%

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,938 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.2 % ส่งผลให้ขาดดุล 554 ล้านดอลลาร์

ตลาดจีนกลับมาหดตัวในรอบ3เดือน

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญเดือน ก.พ.2567 พบว่า ตลาดหลัก เพิ่มขึ้น 2.7% โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐ 15.5% สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 3.3% และ CLMV เพิ่มขึ้น 4.5%

ตลาดจีน ลดลง 5.7% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา ไม้แปรรูป และแผงวงจรไฟฟ้า โดยเมื่อรวม 2 เดือนแรกของปี 2567 หดตัว 2.0% รวมถึงตลาดญี่ปุ่น ลดลง 5.8% และอาเซียน (5 ประเทศ) ลดลง 1.2%

 

จับตาตลาดจีนหลังเศรษฐกิจผันผวน

ขณะที่แนวโน้มการส่งออกทั้งปี 2567 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยภาพรวมของปีนี้จะขยายตัวได้จากอุปสงค์ภาคการผลิตที่กลับมาสู่ระดับปกติทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และกระแสความมั่นคงทางอาหารที่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยยังคงเติบโตได้ดี แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจของคู่ค้าในตลาดหลักอย่างจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวล่าช้า

ภาคการผลิตจีนยังไม่ฟื้นตัว

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกไทยมีโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนได้ โดยมีปัจจัยหนุนการส่งออกที่สำคัญ คือ

1.การขนส่งสินค้าทางทะเลสามารถบริหารจัดการได้ดี แม้ค่าระวางเรือจะยังสูงกว่าปีก่อน 1-2 เท่า แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ โดยสินค้าที่ดาวเด่นในการขับเคลื่อนคือ สินค้าข้าว, ยางพารา รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์

2.ตัวเลขเดือน มี.ค.2567 คาดว่าจะส่งออกได้ 25,500-26,500 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออกได้ 28,000 ล้านดอลลาร์

3.เศรษฐกิจโลกเริมฟื้นดี ดูจากดัชนี PMI ในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐ ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังจีนประเทศเดียวเนื่องจากดัชนี PMI ของจีนยังไม่กระเตื้องขึ้น แสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตของจีนยังไม่ฟื้นตัว

Cr: bangkokbiznews