การนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับจีนในปี 2566 ที่ชี้ว่าไทยขาดดุลการค้าจีนสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะการรับมือกับสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้ามาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของผู้ขายชาวจีนในช่วงที่ผ่านมา

 

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ” นายกสมาคมผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Thailand e-Business Center (TeC) ในเรื่องนี้ รวมถึงแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และการทำงานของสมาคมในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยขายสินค้าในต่างประเทศได้

แนะทางรอดผู้ประกอบการไทย

“กุลธิรัตน์” กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจีนได้ 2 ทาง คือ

1.เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า สร้างจุดขายให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งในตลาด (Unique Selling Point)

2.ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าต่างชาติ และหาโอกาสในการจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของไทยไม่น่าจะทำให้ตลาดโตไปมากกว่านี้ได้แล้ว

ทำไม ‘จีน’ เป็นเจ้าแห่งอีคอมเมิร์ซ

นอกจากจีนจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำการค้าข้ามพรมแดนเก่งเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งรวมไปถึงการขายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซด้วย

“กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ” นายกสมาคมผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) มองว่า ปัจจัยที่หนุนให้จีนมีความเชี่ยวชาญด้านนี้มาจาก

1.สภาพสังคมที่มีการแข่งขันตลอดเวลา ด้วยความที่จีนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน ทุกคนจึงมีไมนด์เซตของการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด

2.ภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องอีคอมเมิร์ซเป็นอย่างมาก มีการออกนโยบาย China e-Commerce Policy และพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross Border e-Commerce) ให้มีมาตรฐานสากล ทั้งช่องทางการขายและระบบโลจิสติกส์ มีการบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

Cr: prachachat