หลังจากที่สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวีความรุนแรงขึ้น สังคมให้ความสนใจกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก มาตรการทั้งในและต่างประเทศล้วนส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ภาคการขนส่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (C02) ที่ปลดปล่อยจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการขนส่ง นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนของภาคอุตสาหกรรมนี้ไปสู่ โลจิสติกส์สีเขียว แบบเต็มขั้น

เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608) โลจิสติกส์สีเขียวจึงเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โลจิสติกส์สีเขียว คือ การจัดการกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ และข้อมูลข่าวสาร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานทั้งไปข้างหน้าและย้อนกลับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้งหมด อาทิ การขนส่ง การบริหารสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า การขนถ่ายวัสดุและการบรรจุภัณฑ์ การสื่อสารด้านโลจิสติกส์และการดำเนินการด้านคำสั่งซื้อ การบริการลูกค้า และโลจิสติกส์ย้อนกลับ

โดยโลจิสติกส์สีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain Management) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้กระบวนการตลอดห่วงโซ่อุปทานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดรับกับแนวทางการเสริมสร้างความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ

Cr: salika