สหภาพยุโรป (EU) ใช้ “มาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน” (CBAM) หรือ “ภาษีคาร์บอน” เป็นกลไกผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตสินค้า แต่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า CBAM ของสหภาพยุโรปจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สำหรับกลไกการทำงานของมาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) นั้น สหภาพยุโรปจะเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตสินค้านั้น ๆ โดยเก็บตาม “ส่วนต่าง” ระหว่างราคาคาร์บอนเครดิตของสหภาพยุโรปและราคาของประเทศต้นทาง หากสินค้านั้นผลิตในประเทศที่ไม่มีการเก็บราคาคาร์บอน ก็จะต้องจ่ายภาษีให้อียูเต็มตามราคาของอียู แต่หากประเทศต้นทางมีการเก็บไปแล้วก็จะหักลบออกจากราคาคาร์บอนในอียู

 

ล่าสุดธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นอีกสถาบันที่มีความเห็นต่อ CBAM โดยกล่าวในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2024 ว่า แผนการของสหภาพยุโรปที่จะเก็บภาษีการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย แต่ไม่น่าจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก

ADB คาดว่า CBAM จะทำให้การส่งออกของเอเชียไปยังสหภาพยุโรปลดน้อยลง โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชียตะวันตกและภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ โดย “เหล็ก” จากอินเดียเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบด้วย

Cr: prachachat